
ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ยักษ์เทคโนโลยีสัญชาติไทย แนะรัฐจับตาต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจร หวั่นเกิด “พีซีบี 0 เหรียญ” ทำไทยได้ไม่คุ้มเสีย หลังทุนต่างชาติครองโนว์ฮาวเทคโนโลยี-ซัพพลายเชนราคาถูก เสนอคุมเข้ม 3 ด้านทั้งการจ้างงาน-ซัพพลายเชน สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงถูกลูกหลงจากสงครามการค้า
นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและบริหารตู้เต่าบิน ตู้บุญเติม กล่าวในงานสัมมนา “ปลุกไทย ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์มติชน ว่า อุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรพิมพ์ หรือพีซีบี (Print Circuit Board-PCB) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เนื่องจากพีซีบีมีดีมานด์สูงต่อเนื่อง ด้วยการเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของสินค้าเทคโนโลยีทุกประเภท ทำให้หากสามารถดึงดูดผู้ผลิตพีซีบีต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยได้ จะมีโอกาสช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวงการอุตสาหกรรมผลิตพีซีบีเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยผู้ผลิตสัญชาติจีนมีบทบาทสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีจุดเด่นแบบครบวงจรทั้งเรื่องการถือครองโนว์ฮาวการผลิตขั้นสูง และความสามารถทำราคาสินค้าได้ต่ำ โดยไม่เพียงต่ำกว่าคู่แข่งต่างชาติ แต่ยังต่ำกว่าโรงงานจีนในต่างประเทศรวมถึงในไทยด้วย ขณะเดียวกันผู้ผลิตสินค้าแบรนด์จีน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า มักกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อชิ้นส่วนอย่างพีซีบี ในรูปแบบที่ยากที่โรงงานชาติอื่นจะสามารถผ่านได้
ทั้งนี้ เห็นได้จากการจัดซื้อของบริษัท ซึ่งพบว่าการซื้อพีซีบีจากโรงงานในประเทศจีนนั้น ราคาถูกกว่าซื้อจากโรงงานจีนในไทย เช่นเดียวกับความพยายามของบริษัทที่จะปิดดีลเป็นซัพพลายเออร์พีซีบีให้กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนรายหนึ่ง ซึ่งเงื่อนไขด้านราคาสินค้านั้นท้าทายมาก แม้แต่กับฟอร์ทที่นับว่ามีกำลังผลิตสูงจากการรับผลิตให้กับผู้ผลิตสินค้าหลายแบรนด์ อาทิ ไดกิ้น ฮิตาชิ ฯลฯ อยู่แล้ว
ขณะเดียวกันการรุกคืบของผู้ผลิตพีซีบีสัญชาติจีน ยังทำให้ความหลากหลายของผู้เล่นในอุตสาหกรรมผลิตพีซีบีของไทยลดลง หลังโรงงานญี่ปุ่นหลายแห่งทยอยถอนตัว เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้
สถานการณ์ซึ่งผู้ผลิตต่างชาติมีความได้เปรียบสูงจากความพร้อมแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำนี้ ทำให้มีความเสี่ยงจะเกิด “พีซีบี 0 เหรียญ” หรือการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในรูปแบบที่ไทยได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ประโยชน์เลย คล้ายกับเหตุการณ์ทัวร์ 0 เหรียญ ที่เคยเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นายพงษ์ชัยย้ำว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ “พีซีบี 0 เหรียญ” ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมการลงทุน และบังคับใช้อย่างเข้มงวดใน 3 ด้าน คือ การจ้างงานและใช้ซัพพลายเออร์ การกำจัดของเสีย และขอบเขตที่ชัดเจนของสถานะสินค้าที่ผลิตในไทย
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของจีนพัฒนาไปมากจนสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ดี จึงเสี่ยงที่ซัพพลายเออร์ไทยอาจไม่สามารถสู้ราคาได้ และอาจกลายเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบการจีนเลือกใช้ซัพพลายเออร์ของตนเองแทนการจัดซื้อในไทย เช่นเดียวกับด้านแรงงานที่ความแพร่หลายของระบบอัตโนมัติอาจทำให้มีการจ้างงานชาวไทยไม่มากนัก จึงควรกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติในไลน์การผลิต เพื่อให้มีการจ้างงานคนไทยในระดับที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตพีซีบีนั้นต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก จึงต้องมีข้อกำหนดมาควบคุมอย่างเข้มงวด และต้องบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ต้องระวังคือ การถูกลูกหลงจากสถานการณ์สงครามการค้า เพราะการที่ประเทศคู่ขัดแย้งเข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออกด้วยการแปลงสัญชาติเป็นไทย หากไม่มีข้อกำหนดที่รัดกุมของสถานะสินค้าผลิตในไทย อาจทำให้สินค้าเมดอินไทยแลนด์อื่น ๆ ตกเป็นเป้าของการกีดกันทางการค้า จนกระทบต่อภาพรวมของการส่งออกไปด้วย