พักหนี้ ทีวีดิจิทัล เริ่มเกมใหม่…ต่อลมหายใจช่องเล็ก

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

โล่งอกไปตาม ๆ กัน สำหรับบรรดาทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง หลังจากราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ประกาศดังกล่าวไฟเขียวให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางธุรกิจ โดยจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สนับสนุนค่าโครงข่ายไม่เกิน 50% รวม 2 ปี

เป็นการต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจำนวนหนึ่ง อาทิ วอยซ์ทีวี อัมรินทร์ แกรมมี่ เนชั่น เดลินิวส์ สปริงนิวส์ ทีเอ็นเอ็น ทรูโฟร์ยู ฯลฯ ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะ คสช. เพื่อขอความช่วยเหลือ และตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุม คสช.ได้มีมติในเรื่องนี้ออกมาในประเด็นสำคัญ ๆ ดังกล่าว และเห็นชอบออกคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด

จากนั้นมา เรื่องก็เงียบหายไป พร้อมกับมีกระแสข่าวตามมาเป็นระลอก ๆ ว่า คสช.จะยอมให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตได้ และอาจจะยอมให้ขายใบอนุญาตได้ด้วย

แต่ท้ายที่สุด ม.44 ก็มีข้อสรุปออกมาดังกล่าว

ทันทีที่ประกาศดังกล่าวสิ้นสุดลงก็มีบรรดาผู้ประกอบการทีวี 20 ช่อง ขอใช้สิทธิพักชำระค่าใบอนุญาต มีเพียงช่อง 35 เอชดี (ช่อง 7) และเวิร์คพอยท์ทีวีเท่านั้น ที่ไม่ใช้สิทธิดังกล่าวและนำเงินมาจ่ายตามกำหนดเวลาเดิม

“สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า “มาตรการของรัฐที่ออกมาจะช่วยให้ทีวีดิจิทัลสามารถเดินหน้าต่อบนธุรกิจนี้ได้ และจะช่วยให้บรรยากาศของธุรกิจทีวีดิจิทัลดีขึ้น อย่างน้อยที่สุด ผู้ประกอบการก็จะมีเงินลงทุนหมุนเวียนสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป”

ขณะที่แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความช่วยเหลือที่ออกมาล่าสุดจะทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งจะมีเงินเพื่อนำไปลงทุนในเรื่องของคอนเทนต์ การพัฒนาคุณภาพรายการ ซึ่งช่วยยืดลมหายใจให้แก่ช่องทีวีท่ามกลางเม็ดเงินโฆษณาที่ไม่เติบโต แต่ในทางกลับกันก็มองว่าความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเสมือนการชะลอเวลาไว้เท่านั้น เพราะท้ายที่สุด ผู้ประกอบการทีวีโดยเฉพาะช่องที่มีเรตติ้งท้าย ๆ ก็ยังต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากอยู่ดี เพราะเม็ดเงินโฆษณาทีวีหลัก ๆ จะไหลไปหาช่องที่มีเรตติ้งท็อปไฟฟ์เท่านั้น

ขณะที่แหล่งข่าวจากช่องทีวีดิจิทัลอีกรายให้มุมมองว่า แม้แนวทางการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ แต่มองว่าจะส่งผลดีแค่ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น เป็นการยืดอายุให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ในระยะยาวนั้นมาตรการดังกล่าวจะไม่ตอบโจทย์และไม่สามารถแก้ปัญหาของทีวีดิจิทัลได้ เพราะต้องยอมรับว่าจำนวนช่องยังมีมากเกินความต้องการของผู้ชม ขณะที่นาทีโฆษณาต่อวันก็มีเกินกว่าความต้องการโฆษณาของสินค้า เท่ากับว่าดีมานด์ยังมากกว่าซัพพลาย

“มาตรการที่ออกมาเป็นเหมือนการชะลอกลไกตลาดไว้ เพราะจำนวนช่องมีมากกว่าดีมานด์ของตลาด ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สื่อออนไลน์เข้ามาแย่งความสนใจผู้ชม ขณะที่แนวโน้มของงบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีก็ไม่ดี ทำให้ทีวีดิจิทัลยังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยังต้องเหนื่อยต่อไป”

แหล่งข่าวรายนี้ยังย้ำว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำก็คือ ต้องพยายามปรับตัว พยุงสถานการณ์ไว้ หากสังเกตจะเห็นว่าขณะนี้ หลาย ๆ ช่องก็ยังต้องออกแรงดิ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ช่อง 3 จับมือเทนเซ็นต์ วิดีโอ ส่งออกคอนเทนต์ละครลุยตลาดจีน ขณะที่ช่อง 7 เองก็เปิดตัวคลื่นวิทยุ 98.5 Goodtime Radio เพื่อสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทางเช่นเดียวกับช่อง 9 ที่ได้เขย่าผังรายการใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดตัวรายการใหม่ “คุยชวนคิด กับ สุวิชทิดบ้วน” และ “คุยเพลิน เพลิน” ส่วนพีพีทีวีก็ทยอยใส่คอนเทนต์บันเทิง สารคดี เติมความหลากหลายให้แก่คนดู

ขณะที่ช่องที่มีเรตติ้งท้าย ๆ ตาราง เช่น สปริงนิวส์ ก็ขายเวลาโฆษณาให้แก่ทีวีโฮมช็อปปิ้ง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

อาจจะกล่าวได้ว่า มาตรการเยียวยาทีวีดิจิทัลที่ออกมาก็อาจจะทำหน้าที่ได้แค่ซับเลือด แต่ไม่ได้หยุดเลือดไหลให้แก่ผู้ประกอบการทีวี

 

ต้องติดตามกันต่อไป และมองกันยาว ๆ