
“ฮิซามิทสึ ฟาร์มาซูติคอล” ส่งสินค้าใหม่จากญี่ปุ่น-หวังชิงเม็ดเงินในตลาดแผ่นแปะบรรเทาปวดไทย-อาเซียน ล่าสุดส่ง “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” พลาสเตอร์บรรเทาปวดเจาะกลุ่มผู้ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ตั้งเป้าขายผ่านร้านยากว่า 13,000 แห่งทั่วประเทศ ลุยทำตลาดเต็มสูบทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ คาดผลักดันยอดขายในไทยโต 2 เท่า แย้มอาจตั้งฐานผลิตในไทยหากทำยอดขายติดอันดับ 3 ในเอเชียได้สำเร็จ
นายทาโร่ ฮิรามัตสึ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส หัวหน้าฝ่ายระหว่างประเทศ บริษัท ฮิซามิทสึ ฟาร์มาซูติคอล คัมปะนี อิงค์ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดพลาสเตอร์บรรเทาปวดในไทย มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่ง “ฮิซามิทสึ” มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ประมาณ 11% เป็นอันดับ 2 รองจากอันดับ 1 ที่มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ประมาณ 79% โดยมีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 142% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และ 328% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น และยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
การขยายตัวนี้มีปัจจัยหลักมาจากปัญหาเรื่องสุขภาพของประชากรไทย ที่พบว่า ประชากรไทยที่อายุตั้งแต่ 30-40 ปี ประมาณ 70% ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดหลังจากโรคออฟฟิศซินโดรมและประชากรไทยที่อายุตั้งแต่ 50-60 ปีขึ้นไป มีอาการปวดหลังเรื้อรังและไหล่แข็งมากขึ้น โดยคนไทยส่วนใหญ่จะใช้พลาสเตอร์บรรเทาปวดเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แผ่น/วัน/คน จึงทำให้ตลาดยังคงมีดีมานด์และยังสามารถขยายตัวต่อได้ในอนาคต
ส่งสินค้าใหม่ขยายฐานลูกค้า
ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวบริษัทจึงมีแผนที่จะนำสินค้าใหม่ ๆ จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้น โดยล่าสุดได้นำผลิตภัณฑ์ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” พลาสเตอร์บรรเทาปวดที่มีส่วนผสมของไดโคลฟีแนค (กลุ่มยาต้านการอักเสบ) เข้ามาจำหน่ายในไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากประเทศสิงคโปร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มวางจำหน่ายที่ร้านขายยาระบบเครือข่าย (Key Chain Pharmacies) และร้านขายยาทั่วไป ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ในราคาซองละ 99 บาท (2 แผ่น) และ 299 บาท (7 แผ่น)
“กลุ่มผลิตภัณฑ์ ‘เฟตัส ไดโคลฟีแนค’ จะเข้ามาช่วยเสริมตัวผลิตภัณฑ์ “ซาลอนพาส” ที่มีวางจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว โดยจะเน้นเจาะกลุ่มผู้ที่มีปัญหาปวดกล้ามเนื้อรุนแรง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่ออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารับประทานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ซาลอนพาสจะเน้นเจาะกลุ่มผู้ที่มีอาการปวดเพียงเล็กน้อย”
เชื่อดันยอดขายโต 2 เท่า
นายทาโร่กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการทำการตลาดกลุ่มสินค้าดังกล่าว เบื้องต้นบริษัทเตรียมเดินแผนกลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบ ทั้งในส่วนของการกระจายสินค้าสู่ร้านขายยาทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงสินค้าได้ง่ายผ่านร้านขายยาใกล้บ้าน
โดยตั้งเป้าขยายการจำหน่ายไปสู่ร้านขายยากว่า 13,000 แห่งในประเทศไทย รวมถึงจะจัดทำโฆษณาผ่านสื่อทีวีและออนไลน์ ควบคู่ไปกับการออกโรดโชว์จัดแสดงสินค้าตามแหล่งชุมชน และการส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าผ่านความร่วมมือกับเภสัชกรอีกด้วย
“มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ ‘เฟตัส ไดโคลฟีแนค’ จะช่วยผลักดันยอดขายในประเทศไทยให้เติบโตมากกว่าเดิมอย่างน้อย 2 เท่า จากในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2567 (มี.ค. 67- ก.พ.68) มียอดขายรวมทุกผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยเติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว”
ส่ง “เฟตัส” เจาะอาเซียน
นอกเหนือจากการนำเข้ามาจำหน่ายในไทยแล้ว ในปี 2567 และปี 2568 บริษัทยังมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” ไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ฮ่องกง, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ซาอุดีอาระเบีย และบราซิล
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘เฟตัส ไดโคลฟีแนค’ จะก้าวขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงสำคัญของบริษัทและเป็นแผ่นแปะบรรเทาปวดขวัญใจของผู้บริโภคชาวไทยในระยะเวลาอันสั้น โดยคาดจะมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 50% ของรายได้ทั้งหมด”
ทั้งนี้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของฮิซามิทสึที่จำหน่ายในประเทศไทย ประกอบด้วย แบรนด์ “ซาลอนพาส” ในรูปแบบพลาสเตอร์บรรเทาปวด และครีม, แผ่นเจลลดไข้ ByeBye-FEVER ที่อยู่ในหมวดหมู่อุปกรณ์ทางการแพทย์
และล่าสุดแบรนด์ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” ที่อยู่ในหมวดหมู่ OTC (Over The Counter Drugs : ยาที่ไม่เป็นอันตรายหรือควบคุมพิเศษ)
เล็งตั้งฐานผลิตในไทย
ด้านนายคัตสึฮิโระ ซาโตะ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ผู้จัดการทั่วไป สำนักงานขาย APEA ฝ่ายระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า บริษัทกำลังทำการพิจารณาแผนการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย โดยหนึ่งในเงื่อนไขคือ ต้องเพิ่มยอดขายในไทยให้แข็งแกร่งจนสามารถไต่จากอันดับ 6 ของเอเชีย มาเป็นอันดับ 3 ก็มีโอกาสที่จะบริษัทเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย จากปัจจุบันบริษัทมีฐานผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 4 แห่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย, เวียดนาม, บราซิล และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
“โดยหลังจากที่มีการนำเข้าสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น คาดว่าจะสามารถทำให้ไทยมียอดขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ของเอเชียได้ภายใน 3 ปี”