
ซับสคริปชั่น หรือโมเดลสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อใช้สินค้า กำลังเป็นยุทธศาสตร์ใหม่มาแรงของวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย หลังแบรนด์ใหญ่ทั้งแอลจี, ซัมซุง และโตชิบา ต่างซุ่มพัฒนาโมเดลการขายสินค้าแบบซับสคริปชั่นของตนเองเร็ว ๆ นี้ หวังเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า-สร้างรายได้ใหม่แบบต่อเนื่อง หลังช่องทางเดิมทั้งร้านค้าดีลเลอร์ โมเดิร์นเทรด หรือแม้แต่ออนไลน์เริ่มอิ่มตัว-ถดถอย พร้อมสร้างฐานลูกค้าขาประจำกระตุ้นการซื้อซ้ำไปในคราวเดียว
แม้โมเดลซับสคริปชั่นจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้เล่นที่ใช้โมเดลนี้อยู่ เช่น โคเวย์ ซึ่งมีไลน์เครื่องกรองน้ำและเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก แต่นับเป็นครั้งแรกที่แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างแอลจี, ซัมซุง รวมถึงโตชิบา โดดเข้าร่วมกระแสซับสคริปชั่น พร้อมไลน์อัพสินค้าที่หลากหลายทั้งชิ้นใหญ่และเล็ก โดยบางแบรนด์พร้อมเปิดตัวและเดินหน้าขายเร็ว ๆ นี้ ขณะที่อีกหลายแบรนด์อยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาเทลเลอร์เมดโมเดลของตนเอง
แอลจี ขนฟูลไลน์อัพลงสนาม พร้อมประกันยาวสูงสุด 7 ปี
“แอลจี” หนึ่งในยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเกาหลีใต้ เป็นรายแรกที่เปิดตัวโมเดลซับสคริปชั่นเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบฟูลไลน์อัพในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “LG Subscribe” โดยทดลองจำหน่ายเป็นการทั่วไปมาตั้งแต่ต้น 1 ตุลาคม 2567 ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 หลังซุ่มทดลองมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ทั้งประกาศเปิดรับสมัครพนักงานผ่านเฟซบุ๊ก และจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับสินค้า-เทคนิคการขาย-โครงสร้างรายได้ของโมเดลนี้ รวมถึงทดลองขายในวงจำกัดเพื่อรับฟีดแบ็ก
“อำนาจ สิงหจันทร์” หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โมเดล “LG Subscribe” จะเป็นการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับท็อปของแต่ละหมวด เช่น ตู้เย็น InstaView Door-in-Door, เครื่องซักผ้า WashTower, ทีวี OLED และสินค้าใหม่อย่างเครื่องกรองน้ำ ในระบบบอกรับสมาชิกโดยเก็บค่าสมาชิกรายเดือนผ่านบัตรเครดิต เริ่มต้น 399 บาท/เดือน ไปจนถึง 1,999 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและรูปแบบบริการ
พร้อมจุดเด่นอย่างการรับประกันสินค้านานเท่าอายุสัญญาสูงสุด 7 ปี และการบริการแบบถึงบ้านตามระยะเวลาทุก 6 เดือน – 2 ปีขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า เช่น ทำความสะอาด เปลี่ยนชิ้นส่วนสิ้นเปลืองอย่าง ไส้กรอง โดยเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาแล้วสินค้าดังกล่าวจะเป็นของลูกค้า
ผู้บริหารแอลจี อธิบายว่า แม้เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายสุทธิแล้ว การซื้อสินค้าผ่าน LG Subscribe จะมีราคาสูงกว่าการซื้อ-ผ่อนปกติประมาณ 25-30% เนื่องจากรวมค่าใช้จ่ายจากบริการหลังการขาย แต่มั่นใจว่าด้วยจุดเด่นด้านค่าใช้จ่ายต่องวดที่ต่ำกว่า ร่วมกับความสะดวก-ความสบายใจจากการรับประกันที่ยาวตลอดอายุสัญญา และบริการหลังการขายซึ่งครอบคลุมการติดตั้ง ค่าแรงและค่าอะไหล่แล้ว จะสามารถตอบโจทย์และจูงใจผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มที่มีงบฯ ไม่มากนักอย่าง วัยเริ่มทำงาน หรือครอบครัวใหม่ และกลุ่มที่ต้องการความสะดวก เช่น สูงวัย หรือผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าให้ญาติผู้ใหญ่-ครอบครัวในต่างจังหวัดได้แน่นอน
ทั้งนี้สะท้อนจากผลตอบรับในเกาหลีใต้ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 3,000,000 ราย และมาเลเซียซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2566 จนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 100,000 ราย ส่วนในไทยช่วง 15 วันที่ผ่านมาเริ่มมีผู้สนใจใช้บริการแล้วในทุกกลุ่มสินค้า
สำหรับประเภทสินค้าที่มีจำหน่ายนั้นแบ่งเป็น 9 กลุ่ม 36 รุ่น ประกอบด้วยเครื่องกรองน้ำ, ตู้เย็น เครื่องซักผ้า, เครื่องอบผ้า, ตู้ถนอมผ้า, เครื่องดูดฝุ่น, แอร์, เครื่องกรองอากาศ และทีวี
ขยายทัพพนักงาน 30% – ทุ่มงบฯ 50 ล้านปลุกยอดขาย
ในส่วนของช่องทางจำหน่ายนั้น LG Subscribe จะจำหน่ายผ่าน 2 ช่องทาง คือ ร้าน LG Subscribe ซึ่งปัจจุบันมี 12 สาขา ในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล และจะเพิ่มเป็น 30 สาขาในสิ้นปี 2567 นี้ กับช่องทางออนไลน์ เพื่อรองรับผู้บริโภคต่างจังหวัด ซึ่งหลังจากนี้จะเดินหน้าขยายช้อปเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เน้นทำเลไพร์มแอเรียที่มีทราฟฟิคสูง และจังหวัดหัวเมือง
พร้อมกันนี้บริษัทยังเพิ่มจำนวนพนักงานทั้งคอลเซ็นเตอร์ พนักงานขาย ฯลฯ ขึ้นอีก 30% และเพิ่มศูนย์บริการ รวมถึงโกดังสินค้า เพื่อรองรับการให้บริการหลังการขายที่ยาวนาน และครอบคลุมหลายด้านมากขึ้น เช่นเดียวกับการทุ่มงบฯ 50 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4 นี้ เพื่อทำตลาดสร้างการรับรู้ให้บริการใหม่นี้ในวงกว้าง
ตั้งเป้าปี ’68 ทำรายได้ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้นายอำนาจ ย้ำความเชื่อมั่นว่า LG Subscribe จะได้รับการตอบรับสูงจากผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากความคุ้นเคยกับการซับสคริปชั่น ความสนใจและต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ การอยู่อาศัยในบ้านซึ่งมีพื้นที่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรูปแบบและหลายชิ้น รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียว
โดยคาดว่าสินค้าที่จะได้รับความนิยมจะเป็นแอร์และเครื่องกรองน้ำ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและการเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมีการล้างทำความสะอาดเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนเครื่องกรองน้ำเป็นสินค้าที่ในตลาดมีการใช้บริการซับสคริปชั่นอยู่ก่อนแล้ว ผู้บริโภคจึงมีความคุ้นเคย
ด้วยเหตุจึงตั้งเป้ารายได้จาก LG Subscribe ในปี 2568 ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้บริการประมาณ 40,000 ราย ก่อนที่ปี 2569 จะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท จากผู้ใช้บริการ 70,000-80,000 ราย
สร้างรายได้ 1 ล้านล้านวอน
ทั้งนี้ แอลจีเริ่มใช้โมเดลซับสคริปชั่นในเกาหลีใต้มาระยะหนึ่งแล้วและมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภครุ่นใหม่ สะท้อนจากรายงานของบริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด ที่ระบุว่า ปี 2567 นี้ เพียงเดือนมิถุนายนเดือนเดียว ยอดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านกลุ่มหลักจาก LG Brand Shop ในเกาหลี มาจากการสมัครสมาชิกถึง 36.2%
หลังเมื่อปี 2566 โมเดลซับสคริปชั่นทำรายได้ในเกาหลีใต้ไปมากกว่า 1 ล้านล้านวอน ทั้งนี้เป็นผลจากการได้รับความนิยมสูงในกลุ่มชาวเกาหลีรุ่นใหม่
ความสำเร็จนี้ทำให้ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเกาหลีใต้ตัดสินใจนำธุรกิจซับสคริปชั่นออกให้บริการในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดโลก เริ่มจากประเทศมาเลเซียในชื่อ “LG Rent-Up” เมื่อเดือนเมษายน 2566 ให้บริการครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้า 10 รายการ ประกอบด้วยทีวี, เครื่องซักผ้า, เครื่องอบผ้า, แอร์, ตู้เย็น, ตู้ถนอมผ้า, เครื่องฟอกอากาศ, เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย, เครื่องกรองน้ำ และลำโพงซาวนด์บาร์ โดยมีระยะเวลาสัญญา 2 แบบ คือ 5 ปี และ 7 ปี
ค่ารายเดือนเริ่มต้น 40 ริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 308 บาท/เดือน สำหรับเครื่องฟอกอากาศรุ่น AS60GHWG0 เป็นระยะสัญญา 7 ปี, ทีวี QNED ขนาด 75 นิ้ว รุ่น 75QNED91TSA ระยะเวลา 5 ปี ในราคา 230 ริงกิตมาเลเซีย/เดือน (ประมาณ 1,774 บาท)
นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นราคาพิเศษ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม เช่น ทีวี QNED ขนาด 75 นิ้ว รุ่น 75QNED91TSA คู่กับซาวนด์บาร์รุ่น S90TY ระยะเวลา 5 ปี ราคา 290 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 2,237 บาท/ เดือน) จากปกติ 330 ริงกิตมาเลเซีย/เดือน หรือเครื่องฟอกอากาศรุ่น AS10GDWB0 คู่กับเครื่องกรองน้ำรุ่น WD216AN ระยะเวลา 7 ปี ราคา 128 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 987 บาท/เดือน) จากปกติ 140 ริงกิตมาเลเซีย/เดือน เป็นต้น
ทั้งนี้ เว็บไซต์ LG Electronics Malaysia ย้ำจุดเด่นของโมเดลซับสคริปชั่นว่า ช่วยให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น
ซัมซุง-โตชิบา เล็งร่วมวง
ขณะเดียวกัน ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้ารายอื่นทั้งซัมซุง และโตชิบา ยังแสดงความสนใจเปิดโมเดลซับสคริปชั่นของตนเองด้วยเช่นกัน หวังขยายช่องทางจำหน่ายรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มเพื่อสร้างโอกาสเติบโต
โดย “ซีล เจียง” ประธานบริษัท โตชิบา ไลฟ์สไตล์ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า บริษัทกำลังศึกษาการนำโมเดลซับสคริปชั่นมาใช้ในการจำหน่ายสินค้า หลังการนำเสนอโซลูชั่นในครัวเรือนเป็นหนึ่งในแนวทางหลัก ซึ่งบางโซลูชั่นต้องมีการให้บริการหลังการขายต่อเนื่อง เช่น ไลน์อัพสินค้าระบบกรองน้ำแบบครบวงจรตั้งแต่จุดน้ำเข้า ไปจนถึงเครื่องกรองน้ำสำหรับชงกาแฟ ที่ต้องมีการเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนด เป็นต้น
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของซัมซุง ซึ่ง “เริงบุญ คล่องคำนวนการ” ผู้อำนวยการธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโมเดลซับสคริปชั่นเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นโอกาสสร้างช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ หลังที่ผ่านมาช่องทางจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย เช่น ร้านค้า โมเดิร์นเทรด ฯลฯ นั้นไม่มีการขยายตัวมากนัก จึงต้องมองหาช่องทางใหม่ ๆ มาเพิ่มโอกาสการเติบโต
ความเคลื่อนไหวนี้ฉายถึงความคึกคักของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย ที่การแข่งขันในรูปแบบซับสคริปชั่นจะดุเดือดยิ่งขึ้น ซึ่งต้องจับตาดูผลตอบรับของโมเดลซับสคริปชั่นของแอลจี และรอลุ้นว่ารูปแบบโมเดลซับสคริปชั่นของซัมซุงและโตชิบาจะออกมาเป็นอย่างไร