อสมท ชี้สถานการณ์ “ทีวีดิจิทัล” สุดท้าทาย เผยใบอนุญาตที่ดำเนินการจะหมดอายุอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ความคืบหน้าเงื่อนไขประมูลใหม่ยังไม่ชัดเจน ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีหดตัวต่อเนื่อง เตรียมแผนปั้น 3 New S-curve ต่อยอดโนว์ฮาว-แฟนคลับ-ที่ดิน พร้อมทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ แตกไลน์ธุรกิจใหม่ หวังสร้างช่องทางรายได้ใหม่ มั่นใจพาทั้งองค์กรโตยั่งยืนได้ในทุกสถานการณ์
นายผาติยุทธ ใจสว่าง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจโทรทัศน์และวิทยุยังเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดลงของเม็ดเงินโฆษณาจากทั้งสภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันในวงการสื่อเอง ส่งผลให้ อสมท ในฐานะหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจสื่อรายใหญ่ที่มีทั้งโทรทัศน์วิทยุ และการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล ต้องเร่งปรับตัวด้วยการต่อยอดทรัพยากรที่มี ทั้งในด้านโนว์ฮาว, บุคลากร, ฐานผู้ชมผู้ฟัง, ชื่อเสียงที่สั่งสมมา ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์มาหล่อเลี้ยงองค์กรให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน แม้ถึงวันหนึ่ง อสมท อาจไม่มีช่องทีวีดิจิทัลอีกต่อไป
สร้างช่องทางหารายได้ใหม่
นายผาติยุทธกล่าวว่า แม้ว่าในช่วงโค้งท้ายปี 2567 นี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2567 จะผ่านสภาแล้ว แต่ภาพรวมการใช้งบฯโฆษณาของทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงปีนี้ยังต่ำ คาดว่าเป็นผลจากหน่วยงานรัฐอยู่ระหว่างทำแผนการใช้งบฯ จึงอาจต้องรอถึงช่วงธันวาคม 2567-มกราคม 2568 จึงจะมีเม็ดเงินออกมา
สำหรับส่วนงบฯภาคเอกชนแม้ว่าจะมีการใช้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยถึง อสมท มากนัก เนื่องจากเป็นการซื้อสื่อผ่านบริษัทเอเยนซี่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อโดยใช้หลักเกณฑ์เรื่องของเรตติ้งเป็นหลัก จึงคาดว่ารายได้รวมจากโฆษณาของปี 2567 นี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก ซึ่งบริษัทได้พยายามชดเชยด้วยการเร่งเครื่องสร้างรายได้จากการจัดอีเวนต์ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่ผูกติดกับการโฆษณา
สัมปทานทีวีดิจิทัลจุดเปลี่ยนสำคัญ
รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท กล่าวด้วยว่า ใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิทัลและใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะหมดอายุในปี 2571-2572 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับธุรกิจสื่อโทรทัศน์ รวมถึง อสมท อีกครั้ง โดยปัจจุบัน อสมท มีรายได้จาก 3 ส่วนหลัก คือ โทรทัศน์, วิทยุ และการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล
หากไม่มีช่องโทรทัศน์รายได้จะหายไป 1 ใน 3 ทันที และหากโครงข่ายทีวีดิจิทัลถูกยกเลิกไปด้วยจะเท่ากับหายไป 2 ใน 3 ที่สำคัญ ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อเมื่อใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิทัลและใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสิ้นสุดลง
“ตอนนี้ผู้ประกอบการทุกคนต้องทำแผนตั้งรับทั้งในรูปแบบที่ว่า กสทช. จะทำการเปิดประมูลใหม่ และให้ต่อใบอนุญาตโดยปริยาย เพราะเหลือเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายได้ร่วมกันผลักดันให้ กสทช. รีบหาข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการทำแผนธุรกิจตั้งรับได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า” รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่ชัดเจนดังกล่าวนี้ มองว่าหากต้องมีการประมูลอาจมีผู้เล่นหลายรายไม่เข้าร่วม แม้แต่กรณีที่สามารถต่อใบอนุญาตได้ก็อาจมีเพียงบางรายที่จะดำเนินธุรกิจต่อ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจมีต้นทุนที่สูง ขณะที่แนวโน้มของธุรกิจโทรทัศน์อยู่ในช่วงขาลง เม็ดเงินโฆษณาลดลงต่อเนื่องทุกปี
นายผาติยุทธกล่าวอีกว่า สำหรับ อสมท นั้นจะพยายามรักษาสถานีโทรทัศน์และเครือข่ายสื่อวิทยุเอาไว้ เพราะแม้สื่อดิจิทัลจะเติบโตสูงสวนทางกับสื่อโทรทัศน์ แต่ในด้านรายได้ต่อการลงทุน 1 คอนเทนต์ หรือ ROI ของการขายโฆษณาผ่านทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุยังสูงกว่าสื่อออนไลน์มาก
“แผนการรักษาช่อง 9 MCOT HD ไว้นี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ต้องจับตาเงื่อนไขการประมูล-ต่อใบอนุญาตจาก กสทช.อีกครั้ง” นายผาติยุทธกล่าว
ปั้น S-curve รับมือทีวีหมดสัญญา
นายผาติยุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า อสมท ได้เตรียมวางแผนรับมือกรณีไม่มีสถานีโทรทัศน์หลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลหมดอายุไว้ตั้งแต่ปี 2566 แล้ว ภายใต้โจทย์หลักคือ การพาองค์กรที่มีบุคลากรกว่า 900 คน เดินหน้าไปต่อให้ได้ ไม่ว่า อสมท จะประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลใหม่ หรือจะได้ใบอนุญาตใหม่ หรือไม่ก็ตาม โดยมุ่งการสร้าง S-curve หรือการเติบโตใหม่ ด้วย 2 ยุทธศาสตร์หลัก และอีก 1 ยุทธศาสตร์สำรอง
โดยยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.ยกระดับองค์กรจากสื่อไปสู่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือคอนเทนต์โพรไวเดอร์ เน้นเสริมความแข็งแกร่งการผลิตคอนเทนต์ข่าว เช่น สำนักข่าวไทย, ไนน์เอ็นเตอร์เทน, ชัวร์ก่อนแชร์ และอื่น ๆ เพื่อให้สามารถส่งคอนเทนต์ไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ทั้งในไทยและทั่วโลก
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่างานข่าวลักษณะนี้มีดีมานด์แน่นอน และไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแพลตฟอร์มอีกต่อไป พร้อมปรับรูปแบบการสร้างรายได้จากการขายเวลาโฆษณาไปสู่การไทอินสินค้าในรายการต่าง ๆ เพื่อข้ามข้อจำกัดของช่องทางเผยแพร่ และเพิ่มโอกาสได้รับการยอมรับจากผู้ชม
และ 2.พัฒนาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ นอกเหนือจากสื่อ โดยที่ดำเนินการได้ทันทีคือการต่อยอดบุคลากร โนว์ฮาว และทรัพยากรที่มีอยู่ รวมกับการจับมือพันธมิตรภาคธุรกิจ สถานศึกษามาเสริมในส่วนที่ไม่ชำนาญ
ตัวอย่าง เช่น ต่อยอดทีมวิศกรระบบสำหรับดูแล MUX ที่กระจายทั่วประเทศ เป็นธุรกิจติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และการคุมระบบจอง-บำรุงรักษาจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยขณะนี้ทดลองติดตั้งแผงในสถานีของ อสมท บางแห่งแล้ว
เช่นเดียวกับธุรกิจฝึกอบรม โดย MCOT ACADEMY อาทิ หลักสูตรพิธีกร 2 ภาษา, การผลิตรายการสารคดีวิทยุ และหลักสูตร MCOT CEOs of ASEAN เป็นต้น รวมถึงการต่อยอดโนว์ฮาว คอนเทนต์และคอมมิวนิตี้ฐานแฟนคลับ ไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มเติม
อาทิ ทริปท่องเที่ยว อ.วีระ ธีรภัทร ที่ต่อยอดฐานแฟนคลับรายการวิทยุ “คุยได้คุยดี” ทางสถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์นเรดิโอ คลื่นความคิดเอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิรตซ์ และรายการ “ฟังหูไว้หู” ทางช่อง 9 MCOT HD รวมถึงรายการและสื่อวิทยุต่าง ๆ ของ อสมท หรือการจำหน่ายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มช็อปปิ้ง Shop Mania รวมไปถึงอาจผลิตสินค้าโอว์นแบรนด์ออกมาวางจำหน่ายในอนาคตอีกด้วย
ต่อยอดที่ดินรัชดา 50 ไร่
ส่วนยุทธศาสตร์สำรองจะเป็นการเดินหน้าหาช่องทางใช้ประโยชน์จากที่ดิน 3 แปลงใหญ่ที่มีอยู่ คือ ย่านรัชดา ย่านหนองแขม หรือช่อง 3 เดิม และย่านบางไผ่ ซึ่งยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์หรือสร้างรายได้ โดยเฉพาะที่ดิน 50 ไร่ย่านรัชดา ซึ่งเป็นทำเลศักยภาพสูง หากสามารถนำออกมาพัฒนาจะสร้างรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคงให้กับ อสมท ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำร่างข้อกำหนดหาประโยชน์บนที่ดิน ซึ่งยังไม่มีกำหนดเวลาแล้วเสร็จชัดเจน ส่วนกระแสข่าวเรื่องการทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นั้นไม่เป็นความจริง
กระแสวายขุมทรัพย์จับ Gen Z
นายผาติยุทธกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หนึ่งในกลยุทธ์ไฮไลต์ด้านเสริมแกร่งคอนเทนต์และต่อยอดฐานแฟนคลับนั้น คือ MCOT New Journey การส่งมอบ Content, Community, Event สู่กลุ่ม Young Generation การต่อยอดกระแสวาย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจสื่อทั้งด้านการเป็นสะพานเข้าถึงผู้ชมรุ่นใหม่ Gen Z และด้านโอกาสทางธุรกิจ โดยคาดว่าแนวโน้มความแรงจะยังคงเติบโตต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีแน่นอน
เนื่องจากมีปัจจัยเอื้อหลายด้าน อาทิ ความเปิดกว้างของรัฐบาล-สังคมไทย และสถานะของอุตสาหกรรมผลิตคอนเทนต์วาย ทั้ง BL (Boy’s Love) และ GL (Girl’s Love) ที่อยู่ในระยะเริ่มต้น จึงเติบโตก้าวกระโดดได้อีกมาก ทั้งจำนวนงานและจำนวนคนทำงาน รวมถึงฐานแฟนคลับทั่วโลก อาทิ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งมีกำลังซื้อและพร้อมลงทุนซัพพอร์ตศิลปินที่ชอบแบบเต็มที่
ทั้งนี้ สะท้อนจากตัวเลขการสร้างระดับปีละ 100 เรื่อง และออนแอร์ในช่องทางต่าง ๆ รวมกว่า 60 เรื่องต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงผลตอบรับของซีรีส์วาย Love Sick 2024 : ชุลมุนกางเกงน้ำเงิน ซึ่งเรตติ้งสูงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้ช่องเป็นที่พูดถึงของเหล่า Gen Z เป็นต้น
“จากแนวโน้มนี้ทำให้เราเดินหน้าเพิ่มดีกรีการนำกระแสวายมาใช้เป็นแม็กเนตดึงดูดกลุ่ม Gen Z เข้ามามีส่วนร่วมกับบริษัทให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และย้ำความเชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์วาย ด้วยการจัดงานมอบรางวัล Y ENTERTAIN AWARDS 2024 ขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะมอบรางวัลให้กับบุคลากรทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการคอนเทนต์วายในประเทศไทย” นายผาติยุทธกล่าวและว่า นอกจากนี้ สถานียังเปิดสลอตเวลาสำหรับฉายซีรีส์วาย ทุกวันอาทิตย์เวลา 23.00 น. ซึ่งปัจจุบันมีไลน์อัพซีรีส์มากพอแพร่ภาพต่อเนื่องยาวไปจนถึงต้นปี 2569 แล้ว
ทั้งนี้ เชื่อว่าด้วยยุทธศาสตร์สร้าง S-curve ใหม่ รวมถึงการต่อยอดกระแสวาย ทั้งด้วยไลน์อัพซีรีส์ และงานวายเอ็นเตอร์เทน อวอร์ด จะช่วยให้ อสมท สามารถเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืนได้ ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกทั้งการแข่งขัน และใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร