คนไทยหนุนกระแสรักษ์โลก แห่เทรดอินเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสองในบ้าน โฮมโปรเตรียมยกระดับโครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” ปี’68 หลังเติมสารพัดสินค้า Circular Products ที่ผลิตจากวัสดุหมุนเวียน เข้าพอร์ต ทั้งตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น พร้อมทุ่มงบฯลอนช์แคมเปญสื่อสารใหญ่ช่วงปีหน้า หวังสร้างรับรู้กวาดฐานลูกค้าอายุ 28-55 ปี พร้อมขยายบริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า
นางสาวเสาวณีย์ สิราริยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มการตลาด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน “โฮมโปร” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า การจัดการเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า เป็นทั้งความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตของทั้งร้านค้าและแบรนด์สินค้า เนื่องจากเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในการใช้จ่ายเพื่อสินค้ารักษ์โลกซึ่งกำลังมาแรงทั่วโลก ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้ารุ่นใหม่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ในครัวเรือน และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม แม้จะต้องการและพร้อมซื้อสินค้าใหม่เพื่อประหยัดค่าน้ำ-ไฟฟ้ารวมถึงเวลาก็ตาม บวกกับในอนาคตมีแนวโน้มที่ภาครัฐจะมีมาตรการควบคุมการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกมาตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรงทั่วโลก ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าใหม่ยากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายนี้มาพร้อมกับโอกาสด้วยเช่นกัน เพราะหากช่องทางจำหน่ายหรือแบรนด์สินค้ารายใดสามารถตอบโจทย์นี้ได้ก็จะสามารถชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน และกลายเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ารุ่นใหม่ทดแทนของเดิม
ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต่อยอดแคมเปญเก่าแลกใหม่ ที่จัดขึ้นเมื่อต้นปี 2566 ภายใต้โครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” ซึ่งเป็นโครงการเปิดให้ผู้บริโภคนำสินค้าเก่า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องมือช่าง, อุปกรณ์ทำสวน รวมไปถึงที่นอนและโซฟา ฯลฯ มาแลกเป็นส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าใหม่ได้ที่โฮมโปรทุกสาขา และช่องทางออนไลน์สูงสุด 1 พันบาท
โดยบริษัทเป็นตัวกลางรับสินค้าเก่า และประสานงานกับผู้คัดแยก-แปรรูปขยะกลับเป็นวัตถุดิบ เช่น เม็ดพลาสติก ก่อนจะร่วมมือกับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งญี่ปุ่น, เยอรมนี, เกาหลี และจีน เพื่อนำเม็ดพลาสติกไปผลิต เป็นสินค้ากลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง หรือ Circular Products อาทิ ตู้เย็น, เครื่องทำน้ำอุ่น, เครื่องซักผ้า, พัดลม ฯลฯ โดยชูจุดเด่นด้านราคาเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่แม้จะสูงกว่าพลาสติกใหม่ แต่ระดับราคามีความผันผวนน้อยกว่า ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถคุมต้นทุนได้ง่ายกว่าด้วย
พร้อมกันนี้บริษัทชดเชยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ด้วยการจัดโปรโมชั่นให้ส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าเหล่านี้ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เช่น โปรโมชั่นราคา และให้ส่วนลดพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรโฮมโปรวีซ่ารับส่วนลดเพิ่ม 3% + 2% เมื่อซื้อสินค้า Circular Products เป็นต้น ช่วยให้สินค้าเหล่านี้มีราคาที่แข่งขันได้
“เรามีความพร้อมที่ชิงความได้เปรียบนี้ ทั้งในฐานะช่องทางจำหน่ายซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์สินค้าและผู้บริโภค สเกลของธุรกิจซึ่งมีร้านสาขามากกว่า 130 สาขาทั่วประเทศ สร้างยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า 5 ล้านเครื่องต่อปี รวมไปถึงทีมช่างรองรับการรื้อถอนสินค้าเก่า-ติดตั้งสินค้าใหม่ ทำให้สามารถดำเนินโครงการนี้แบบถาวร และครบวงจรตั้งแต่รับแลกสินค้าเก่า นำไปแยก-รีไซเคิล ผลิตพลาสติกกลับมา และร่วมพัฒนาสินค้าใหม่กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดแตกต่าง จากคู่แข่งในวงการ”
โดยภายในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2568 ที่จะถึงนี้ บริษัทเตรียมยกระดับการทำตลาดโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ไปอีกขั้น หลังไลน์สินค้า Circular Product จะมีความหลากหลายเพียงพอ เนื่องจากสินค้าที่ร่วมพัฒนากับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจะเริ่มออกวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้าและตู้เย็นจากโตชิบา, ตู้เย็นและเครื่องซักผ้าจากซัมซุง, เครื่องปรับอากาศจากไดกิ้น เครื่องทำน้ำอุ่นจากมาซูม่า ฯลฯ มาร่วมกับสินค้าที่เริ่มวางจำหน่ายช่วงไตรมาส 4 ของปี 2567 นี้ เช่น ตู้เย็นจากไฮเออร์ และเครื่องทำน้ำอุ่นจากสตีเบลเอลทรอน เป็นต้น เนื่องจากการพัฒนาสินค้าจะใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน
โดยจะลอนช์แคมเปญการสื่อสารครั้งใหญ่ พร้อมจัดเต็มใช้สื่อทั้งโฆษณาทีวี บิลบอร์ด และสื่อดิจิทัล เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างให้กับโครงการ และไลน์สินค้า Circular Products ที่มีจำหน่าย หลังทุ่มงบฯกว่า 30 ล้านบาท สร้างภาพยนตร์โฆษณาสำหรับโครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” ซึ่งออนแอร์ไปเมื่อ 3 ธันวาคม 2567 และจะฉายต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เพื่อสร้างและรักษากระแสการรับรู้ไว้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายอายุ 28-55 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและมีความต้องการ-พร้อมลงทุนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีจุดเด่นด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้งาน
นางสาวเสาวณีย์กล่าวว่า นอกจากโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่แล้ว ขณะนี้บริษัทยังเปิดศูนย์ซ่อมมืออาชีพ (Repair Service Center) ทั่วประเทศเพื่อรับซ่อมสินค้าของผู้บริโภค ทั้งแบบนำมาส่งซ่อมและซ่อมถึงบ้านลูกค้า เนื่องจากคาดว่าในอนาคต การซ่อมแซมสินค้าจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะหลังจากการอัพเกรดเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นรุ่นที่ประหยัดพลังงาน-เวลาแล้ว ผู้บริโภคจะใช้สินค้าเดิมนานขึ้นด้วย รวมถึงตอบโจทย์เรื่องการหาร้านซ่อมยากขึ้นในปัจจุบัน เห็นได้จากสถานการณ์ในตลาดต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ที่ก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า ส่วนในไทยหลังเริ่มโครงการมาได้ 6 เดือน ปัจจุบันมียอดการส่งซ่อม 3-4 พันชิ้นต่อเดือน ทั้งนี้อนาคตอาจต่อยอดไปสู่การขยายระยะเวลารับประกันให้กับกลุ่มสินค้า Circular Products ยาวเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยจูงใจผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง
“สิ่งหนึ่งที่ทำให้โฮมโปรสามารถรักษาความได้เปรียบในตลาดไว้ได้คือ เข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภค และเดินหน้าทดลองโครงการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์เพนพอยต์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลายเป็นตัวเลือกแรกเมื่อลูกค้าต้องการสินค้าหรือมีปัญหา”
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้า Circular Products ให้มีสัดส่วนถึง 20% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2030