ธุรกิจญี่ปุ่นผนึกกำลัง แชร์ข้อมูลลูกค้า-โนว์ฮาวเสริมแกร่ง

คอลัมน์ Market Move

ตามปกติแล้วข้อมูลต่าง ๆ ที่แต่ละแบรนด์เก็บได้จากการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นอินไซต์ของลูกค้า-คู่ค้า โนว์ฮาว และอื่น ๆมักถูกจัดเป็นความลับสุดยอด ห้ามไม่ให้แพร่งพรายออกไปถึงคู่แข่งได้เด็ดขาด

แต่ด้วยสภาพการแข่งขันกับธุรกิจจากต่างประเทศที่ดุเดือดมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของเทคโนโลยี และพฤติกรรมลูกค้า ทำให้หลายแบรนด์ต้องหันมาแชร์ข้อมูลเหล่านี้กับผู้ประกอบการรายอื่นหรือแม้แต่กับคู่แข่ง เพื่อร่นเวลา-ประหยัดต้นทุน พร้อมเสริมแกร่งให้ธุรกิจ โดยที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นมีให้เห็นในยุโรป ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งแลกเปลี่ยนข้อมูลโนว์ฮาวระหว่างกันล่าสุด ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เริ่มเกิดขึ้นในญี่ปุ่นบ้างแล้ว

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า บริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มโครงการ-แพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน ทั้งแบบข้ามเซ็กเมนต์และกับคู่แข่งในธุรกิจ พร้อมนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เข้ามาช่วยจัดการข้อมูล หวังสร้างเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันแบบก้าวกระโดดด้วยข้อมูลที่รอบด้านและค่าใช้จ่ายที่ลดลง

นำโดยยักษ์ค้าปลีก “เซเว่นแอนด์ไอ โฮลดิ้ง” (Seven & i Holdings)ผู้บริหารและถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เดือน มิ.ย.นี้จะเริ่มเชื่อมโยงฐานข้อมูลของตนกับบริษัทอื่น ๆ อีก 9 แห่ง ซึ่งมาจากธุรกิจต่าง ๆ อาทิ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ “เอ็นทีทีโดโคโมะ” (NTT Docomo), ธนาคารซูมิโมโตะ (Sumitomo Mitsui Financial Group), บริษัทรถไฟ “โตคิว” (Tokyu) เป็นต้น รวมถึงยังเดินหน้าหาผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

โดยเซเว่นแอนด์ไอฯจะรับหน้าที่รวบรวมข้อมูลดิบจากแต่ละรายเพื่อนำมาวิเคราะห์ก่อนจะเปิดเผยผลให้กับทุกบริษัทที่ร่วมโครงการ ตัวอย่างของข้อมูลเหล่านี้ เช่น การรวมข้อมูลลูกค้า 23 ล้านรายต่อวันของเซเว่นแอนด์ไอฯ และฐานผู้ใช้ 76 ล้านเลขหมายของโดโคโมะเข้าด้วยกันจะสามารถระบุโซนที่เป็นจุดบอดของร้านค้าปลีก เพื่อนำมาวางแผนขยายสาขาหรือเน้นทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงร่วมกับภาครัฐในการวางผังเมืองในอนาคต

ขณะเดียวกัน เอกชนรายอื่น ๆ ต่างมีโครงการในลักษณนี้เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็น “เจแปนโพสต์” (Japan Post) ผู้ให้บริการไปรษณีย์ ที่ร่วมมือกับ “มิตซุย โอ.เอส.เค. ไลนส์” (Mitsui O.S.K. Lines) ผู้ประกอบการขนส่งทางทะเล และผู้ผลิตเครื่องยนต์เรือ เพื่อแชร์ข้อมูลสำหรับพัฒนาเรือขนส่งอัตโนมัติ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่จับมือกันแชร์โนว์ฮาวเกี่ยวกับการบำรุงรักษาโรงกลั่นน้ำมันและจัดการของเสีย หวังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและลดค่าใช้จ่ายของแต่ละรายลง

แม้แต่หน่วยงานรัฐเองก็เข้าร่วมกระแสนี้ โดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมได้เปิดแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการเข้ามาแชร์โนว์ฮาวในการผลิตสินค้าและข้อมูลอื่น ๆ พร้อมจูงใจด้วยผลประโยชน์ด้านภาษีและเงินอุดหนุน อาศัยจังหวะที่ กม.ฉบับใหม่จะมีผลในเดือน มิ.ย.นี้

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ญี่ปุ่นยังล้าหลังยุโรปในเรื่องการปรับตัวรับมือธุรกิจยุคดิจิทัลที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลบิ๊กดาต้าระหว่างผู้เล่นกลายเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ เห็นได้จากในเยอรมนีซึ่งวงการหุ่นยนต์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมแข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังแต่ละแบรนด์เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

ดังนั้นต้องจับตาดูว่าการริเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งนี้จะได้ผลดีกับบรรดาบริษัทที่เข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน และเทรนด์นี้จะแผ่ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วยหรือไม่