ร้านอาหารญี่ปุ่นแข่งดุ-ต้นทุนพุ่ง ‘ฟู้ดซีเล็คชั่น’ ปูพรมหมูกระทะสปีดรายได้

mookrata

“ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป” เบนเข็มธุรกิจปี’68 สปีด “นักล่าหมูกระทะ” 10 สาขา หลังแนวโน้มตลาดอาหารญี่ปุ่นท้าทายสูง ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง แข่งขันราคาดุ สวนทางตลาดหมูกระทะยังฮิตอู้ฟู่ ผู้บริโภคยกระดับมองหาร้านติดแอร์ ลุยปักธง กทม.-ปริมณฑล ด้านชินคันเซ็น ซูชิขยาย 5 สาขา รุกหัวเมือง พร้อมเดินสายหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ต ตามแผนปิดยอดปี’68 ที่ 2,800 ล้าน ตั้งเป้าโตต่อเนื่องเป็น 4,000-5,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี

นายชนวีร์ หอมเตย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้านชินคันเซ็น ซูชิ, นักล่าหมูกระทะ, นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟ่ต์ และคัตสึมิโดริ ซูชิ ฉายภาพธุรกิจอาหารญี่ปุ่น และหมูกระทะในปีนี้ว่า ปี 2568 นี้ ตลาดอาหารญี่ปุ่นมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท มีแนวโน้มทรงตัว และความท้าทายสูงจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นมาก อาทิ เนื้อ-ไข่ปลาแซลมอน, ปลาทูน่า รวมถึงวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นอื่น ๆ

อีกปัจจัยคือสภาพเศรษฐกิจที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สะท้อนจากยอดขายช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะเป็นช่วงที่ยอดขายลดลงอยู่แล้ว แต่ปี 2568 นี้ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 10% นับว่ารุนแรงกว่าปกติ

ส่งผลให้เชื่อว่า บรรดาร้านอาหารญี่ปุ่นจะหันมาเน้นแข่งขันดันความคุ้มค่าอย่าง ระดับราคาต่อคุณภาพ-ปริมาณสินค้ากันมากขึ้น เพื่อชิงผู้บริโภค

“นอกจากนี้ ช่วงปลายปี 2567 ธุรกิจไทยยังพากันนำร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาเปิดในไทยกันอย่างคึกคัก สะท้อนจากเพียงเซ็นทรัลเวิลด์ ก็มีร้านใหม่อย่างน้อย 4 แบรนด์แล้ว”

สถานการณ์นี้ตรงข้ามกับตลาดหมูกระทะ ที่ไม่เพียงดีมานด์ยังสูง แต่ผู้บริโภคเริ่มมองหาร้านระดับสูงขึ้น เช่น มีเครื่องปรับอากาศ-ระบบดูดควัน เนื่องจากต้องการความสะดวกสบายเวลานั่งทาน และไม่มีกลิ่นติดตัวหรือผม รวมถึงยังได้รับแรงหนุนจากกระแสการทานอาหารมื้อดึกหลัง 4 ทุ่มอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจหมูกระทะ โดยไม่ต้องพึ่งพาการแข่งขันราคา

ADVERTISMENT

ปูพรมนักล่าหมูกระทะ

นายชนวีร์กล่าวต่อไปว่า ด้วยแนวโน้มของตลาด และการที่บริษัทมีสาขาชินคันเซ็น ซูชิ ถึง 57 สาขาแล้ว ในปี 2568 ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จะเบนเข็มโฟกัสกับ นักล่าหมูกระทะ แบรนด์ร้านหมูกระทะแบบติดเครื่องปรับอากาศ และเปิดยาวถึงหลังเที่ยงคืน โดยวางเป้าขยายเพิ่มอีก 10 สาขาจาก 12 สาขาในปัจจุบัน เน้นทำเลคอมมิวนิตี้มอลล์ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อรองรับการเปิดถึงตี 2 ขณะเดียวกันมีแผนจัดโปรโมชั่นบุฟเฟต์ในบางช่วงเวลาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคอีกด้วย

“ดีมานด์ร้านหมูกระทะนั้นเห็นได้ชัดจากการเปิดสาขาใหม่ที่เราแทบไม่ต้องทำตลาดก็มีลูกค้าใช้บริการในปริมาณที่น่าพอใจทั้งช่วงเวลาปกติและหลัง 4 ทุ่ม”

ADVERTISMENT

ส่วนชินคันเซ็น ซูชิ ที่เน้นโพซิชั่นซูชิราคาจับต้องง่ายนั้น ปีนี้จะปรับแนวทางธุรกิจ 3 ด้านทั้งการขยายเพิ่ม 5 สาขา จากเดิมที่เร่งสปีดจนมี 57 สาขา เน้นเจาะหัวเมืองใหญ่ ตามแผนบุกเบิกตลาดต่างจังหวัดเพื่อมีสาขาในทุกจังหวัด หลังที่ผ่านสาขาในเชียงใหม่และขอนแก่นผลตอบรับดี ยอดใช้จ่ายต่อคนทัดเทียมกับสาขาในกรุงเทพฯ

พร้อมกับรีแบรนด์หันกลับมาเน้นโพซิชั่นร้านซูชิ ด้วยการเพิ่มเมนูซูชิและข้าวห่อสาหร่ายใหม่ ๆ หลังที่ผ่านมามีเมนูหลากหลายเกินไป เช่น ข้าวหน้าต่าง ๆ อาหารทานเล่น ฯลฯ รวมถึงศึกษาโอกาสขยายเวลาเปิดทำการของสาขาในเขต CBD ช่วงหลัง 4 ทุ่มเพิ่ม หลังยอดขายผ่านดีลิเวอรี่ช่วงกลางคืนของสาขาเอกมัย-สยามเติบโตสูง

ด้านคัตสึมิโดริ ซูชิ แบรนด์ใหม่ในพอร์ตซึ่งเป็นร้านซูชิสายพาน ปักธงสาขาแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2567 มีแผนขยายสาขาเพิ่ม 1-2 สาขาต่อปี เน้นโซนกรุงเทพฯเป็นหลัก ควบคู่กับการย้ำจุดเด่นคุณภาพและความสดของวัตถุดิบที่นำเข้าจากญี่ปุ่นทางเครื่องบินทุกสัปดาห์ ตามเป้าหมายเป็น Top of Mind ของร้านซูชิสายพานในประเทศไทย

สำหรับแบรนด์นามะฯ จะขยายพื้นที่ขายโซนเอาต์ดอร์ที่สาขาโรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมเปิดบริการในรูปแบบอิซากายะ

กระตุ้นยอดใช้จ่ายต่อคน

ในส่วนของการตลาดจะมุ่งกระตุ้นยอดใช้จ่ายต่อคนและสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค ด้วยโปรโมชั่นเฉพาะสมาชิกอย่าง สะสมแต้ม และสิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิก เช่น ส่วนลด หรือโปรโมชั่นรูปแบบอื่น ๆ

รวมถึงสร้าง Mascot Branding ในแบรนด์นักล่าหมูกระทะ และคัตสึมิโดริ ซูชิ โดยนักล่าหมูกระทะ มี “น้องหมูน้อย” ที่มีบุคลิกซุกซน ทำให้แบรนด์ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น และคัตสึมิโดริ ซูชิ มีตัวแทนแบรนด์ คือ “คัตสึคุง” เชฟหมีจากญี่ปุ่นที่มีบุคลิกน่ารัก สุภาพ พร้อมให้บริการลูกค้า เข้ามามีบทบาทในการโปรโมตส่งเสริมการขาย หรือกิจกรรมพิเศษ อีกทั้งมีแผนต่อยอดจัดทำสินค้า อาทิ พวงกุญแจ ตุ๊กตา หรือกล่องสุ่ม เข้ามาเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ และเพิ่มการรับรู้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เดินสายหาแบรนด์เสริมพอร์ต

นายชนวีร์ย้ำว่า นอกจากการขยายสาขาแบรนด์เดิมในพอร์ตแล้ว ยังเดินสายหาแบรนด์ใหม่ ๆ มาเสริมแกร่งการสร้างรายได้อีกด้วย โดยแบรนด์ที่มองหาจะอยู่ภายใต้เงื่อนไข อาทิ เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคไทยรู้จักในระดับหนึ่ง คุณภาพอาหารสัมพันธ์กับราคาที่ลูกค้าทานแล้วรู้สึกคุ้มค่า ทดลองแล้วรสชาติถูกใจ ทั้งนี้ ด้านประเภทอาหารนั้นเปิดกว้าง อาจเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นเมนูอื่น ๆ นอกจากซูชิ หรืออาหารเกาหลี

โดยคาดว่าปี 2568 จะมียอดขาย 2,800 ล้านบาท และในอนาคตอีก 5 ปี จะมียอดขายเพิ่มเป็น 4,000-5,000 ล้านบาท