Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
ว่ากันว่า ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ความรักทำให้จิตใจเบิกบาน ไม่ว่าจะรักเพื่อน รักแฟน รักพ่อ-แม่ ครอบครัว จนถึงการรักตัวเอง และความรัก ก็ช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ด้วย
Prachachat BITE SIZE ชวนสำรวจเม็ดเงิน และโอกาสทางเศรษฐกิจ จากเรื่องของความรัก ทั้งวันวาเลนไทน์ และความรักของคนโสด คนมีคู่ และคนรักตัวเอง
เงินสะพัด วาเลนไทน์
ช่วงวันวาเลนไทน์ ถือเป็นช่วงหนึ่งที่มีการจับจ่ายสูง ซื้อของขวัญให้คนรัก พาไปกินข้าว เติมความรัก ซึ่งปี 2568 คาดการณ์ว่า ตัวเลขจะสูงขึ้น โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายเงินสะพัดโดยรวมอยู่ที่ราว 2,700 ล้านบาท นับว่าสูงสุดนั้บตั้งแต่ปี 2563
เหตุผลหลัก ๆ คือ วาเลนไทน์ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ และต่อเนื่องสุดสัปดาห์ ทำให้ภาพรวมผู้บริโภคส่วนใหญ่ เชื่อว่าบรรยากาศปีนี้จะคึกคักเหมือนกับปีที่ผ่านมา และสามารถเร่งการจับจ่ายใช้สอยได้ ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายสูงขึ้นโดยขยายตัว 7.2%
ส่วนมูลค่าการใช้จ่าย คาดว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมเฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 2,287.34 บาท สูงสุดในรอบ 6 ปี และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนเฉพาะซื้อของสำหรับมอบให้คู่รัก จำแนกตาม Gen พบว่า เฉลี่ยรวมอยู่ที่ 1,201.54 บาทต่อคน และแผนการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ อันดับ 1 ยังเป็น ไปทานข้าวนอกบ้าน งบประมาณเฉลี่ย 1,529.38 บาท ตามมาด้วยซื้อของขวัญ, ไปเดินห้าง, ซื้อดอกไม้ และไปดูหนัง
“สมรสเท่าเทียม” ดันเศรษฐกิจโต
หากพูดถึงเศรษฐกิจของคนมีคู่ ธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “งานแต่งงาน”
มีข้อมูลจากปี 2566 ระบุว่า ธุรกิจจัดงานแต่งงาน มีมูลค่าตลาดสูงถึงกว่า 30,000 ล้านบาท และการใช้จ่ายในงานแต่ง ก็มีหลาย ๆ ธุรกิจได้อานิสงส์ ตั้งแต่เรื่องชุดแต่งงาน การเช่าสถานที่ Catering เครื่องประดับ-อัญมณีต่าง ๆ สตูดิโอถ่ายภาพ ไปจนถึงจ้าง Organizer จ้างช่างภาพงานแต่ง รวม ๆ ค่าใช้จ่ายแล้ว มีตั้งแต่หลักแสนกลาง ๆ ไปจนถึงหลักล้าน
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเริ่มต้น “สมรสเท่าเทียม” เมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ว่า สมรสเท่าเทียม จะช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ด้วย โดยข้อมูลจาก Agoda Global Report ระบุว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) ภายใน 2 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
รายได้ที่เกิดขึ้นจะกระจายไปในหลายภาคส่วน เช่น การจองที่พัก การบริการอาหารและเครื่องดื่ม การจับจ่ายซื้อสินค้า การเดินทางภายในประเทศ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ความบันเทิงและบริการทางการแพทย์
นอกจากนี้ สมรสเท่าเทียม ช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 152,000 ตำแหน่ง มีทั้งเกิดขึ้นโดยตรงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และกระจายไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทย ครึ่งต่อครึ่ง ผลักดันให้ตัวเลข GDP ของไทยเพิ่มขึ้น 0.3%
เช่นเดียวกับ ข้อมูลของ Ipsos วิเคราะห์เมื่อปี 2566 คาดว่า ไทยจะมีประชากร LGBTQIA+ ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า 4.4 ล้านคน ซึ่งหากใช้อัตราการสมรสเช่นเดียวกับการสมรสระหว่างชายหญิง จะส่งผลให้มีการจัดงานแต่งงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นงาน หรือสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละ 1.7 พันล้านบาท และเป็นโอกาสเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงแรม สตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าซื้อชุดแต่งงาน บริการรับจัดงานแต่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ โดยข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่าจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นกลุ่ม LGBTQ+ อยู่ที่ 4.9% ซึ่งช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา ก่อนการเกิด “สมรสเท่าเทียม” หลายธนาคารปลดล็อกให้คู่ LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมได้
คนโสด หาคู่-รักตัวเอง
สำหรับเศรษฐกิจของคนโสด แน่นอนว่าธุรกิจที่มาแรง คือ การหาคู่ ซึ่งในอดีตมีธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาคู่ การจัดงานนัดบอดต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นยุคนี้ สมัยนี้ โลกการหาคู่เปลี่ยนไป เป็นการหาคู่ผ่านแอปพลิเคชั่น
มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2025 รายได้ของตลาดแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์จะอยู่ที่กว่า 3,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะโตขึ้นปีละประมาณ 2.14% จนมูลค่าแตะ 3,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2029
ส่วนประเทศไทย ข้อมูลจาก Statista คาดว่า รายได้ในตลาดหาคู่ออนไลน์ จะมีมูลค่ากว่า 365 ล้านบาทในปี 2568 และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.73% ในช่วงปี 2025-2029 ทำให้มูลค่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 391 ล้านบาท ภายในปี 2029
ขณะที่จำนวนผู้ใช้ในตลาดหาคู่ออนไลน์คาดว่าจะมีจำนวน 3.3 ล้านคนภายในปี 2029 และรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (ARPU) คาดว่าจะอยู่ที่ 3.38 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 115 บาท
ขณะที่แอปที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในไทย เบอร์ 1 ยังคงเป็น Tinder (77%) ตามมาด้วย Coffee Meets Bagel (CMB) (12%) Her (8%) Bumble (2%) และ Omi (1%)

ขณะเดียวกัน หลาย ๆ คน เลือกที่จะเป็นโสดแบบรักตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การหาคู่ในปี 2568 ที่วิเคราะห์โดย Bangkok Matching ระบุว่า คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหญิงโสด เลือกที่จะรักตัวเองมากขึ้น กลับมาให้ความรักตนเองก่อน และเห็นคุณค่าของตนเองที่จะไม่ให้ใจกับคนที่ไม่ให้ค่า ไม่ให้ความเคารพ รักตนเองอีกต่อไป
และยังระบุเป็นสโลแกนว่า
“หากได้แฟนที่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่เอา”
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเมื่อปี 2566 โดยสภาพัฒน์ และ Euromonitor ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนโสด สูงที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นการใช้จ่ายในกลุ่มของสินค้า และบริการ คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี
และธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากคนโสด มีเยอะมาก ทั้งการเช่าบ้าน การท่องเที่ยว การเลี้ยงสัตว์-ที่อยู่ที่เลี้ยงสัตว์ได้ ร้านอาหารแบบทานคนเดียว (Solo Dining) ไปจนถึงการดูแลตัวเอง ธุรกิจความงาม ธุรกิจดูแลสุขภาพ
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.94 ได้ที่ https://youtu.be/as4ILv8u0D0
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ