“ฮาคูโฮโด” เผยเทรนด์จับจ่าย ก.พ.68 แฟชั่น-ท่องเที่ยว-อีเวนต์ “ThaiMade” แรง

Hacudo

สถาบันวิจัยฮาคูโฮโด เผยกุมภาพันธ์ 2568 แม้ชาวออฟฟิศ กทม.-ตจว.หันออมเงินหวั่นกระแสเลย์ออฟ แต่ดีมานด์ Thai Made ยังแรง Gen X ควักกระเป๋าช็อปสินค้าแฟชั่นไม่สนอายุ ด้าน Gen Y เดินสายท่องเที่ยวฉลอง-ทำบุญ ส่วน Gen Z เปย์ศิลปินไม่ยั้งทั้งคอนเสิร์ต-แฟนมีต แย้มแนวโน้มอนาคตความกังวล การเมือง การบังคับใช้กฎหมาย ยังกระทบความเชื่อมั่น

นางสาวปุณยวีร์ รุ่งวิไลเจริญ นักวางแผนกลยุทธ์อาวุโส สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการสำรวจของบริษัท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ แนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทยลดลง เช่นเดียวกับดัชนีความสุข โดยผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่เพียงระมัดระวังการใช้จ่าย และรัดเข็มขัดเก็บเงินสะสมเพื่อสำรองในกรณีฉุกเฉินกันมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมุ่งเพิ่มเวลา-ปริมาณงาน และลดเวลาพักผ่อนลง เพื่อเร่งสปีดการสร้างรายได้ ไว้สำหรับพักผ่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง

ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง -1 คะแนน เมื่อเทียบกับผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา คนเมืองชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ลดลง 4% ยกเว้นเพียงการซื้อของขวัญให้คนที่รักตามเทศกาลวาเลนไทน์ยังคงเติบโต 2%

ทั้งนี้ เนื่องจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงฝืดเคืองมายาวนาน ร่วมกับกระแสข่าวเลย์ออฟพนักงานอย่างต่อเนื่อง

“ผู้ตอบแบบสำรวจในทุก ๆ ภูมิภาคมีความเห็นไปทางเดียวกันว่า ยังไม่ต้องการใช้จ่าย แต่ขอมุ่งมั่นเก็บออมไว้เพื่ออนาคต”

Thai Made ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ตามผลสำรวจฉบับนี้คะแนนความสุขของคนไทย -1% เมื่อเทียบกับผลสำรวจเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่คนไทยก็ยังคงมองหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเติมเต็มหัวใจ

ADVERTISMENT

หนึ่งในนั้นคือ กระแส Thai Made หรือการใช้จ่ายกับสินค้า-บริการ ที่สะท้อนความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นไทย, เทศกาลและประเพณีไทย ไปจนถึงสื่อบันเทิง-ศิลปินไทย โดยเฉพาะแนว T-Pop หรือ Thai-Pop ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่

ADVERTISMENT

“ความเป็นไทย ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่ยังช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณ และกลายเป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและจิตใจคนไทยให้เดินหน้าต่อไปได้”

เจาะเทรนด์จับจ่าย 3 เจน

นางสาวอรุณโรจน์ เหล่าเจริญวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ เสริมว่า พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคในกระแส Thai Made นั้น แตกต่างกันตามเจเนอเรชั่น โดยแบ่งป็น 3 กลุ่ม คือ Gen X Gen Y และ Gen Z

โดย Gen X เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายกับแฟชั่นไทยมากที่สุด ด้วยมุมมองที่ว่าแฟชั่นไทยในปัจจุบันมีคุณภาพใกล้เคียงกับแบรนด์ต่างประเทศ อีกทั้งยังต้องการแสดงออกถึงความรักสวยรักงามและไม่ยอมจำนนต่ออายุ

ส่วน Gen Y เน้นการพาทุกคนในครอบครัวไปท่องเที่ยว ร่วมกิจกรรม-เทศกาลต่าง ๆ ทั้งเฉลิมฉลอง และการทำบุญ รวมไปถึงซื้อของขวัญให้ลูก พ่อแม่ เนื่องจากมองว่า เป็นโอกาสในการรวมตัวกันของครอบครัว และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ขณะที่ Gen Z เดินหน้าสนับสนุนศิลปิน T-Pop ผ่านคอนเสิร์ต แฟนมีต หรือกิจกรรมต่าง ๆ นับเป็นพลังที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการ T-Pop ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

แนะธุรกิจเน้นแคมเปญ “ทำดี”

นางสาวอรุณโรจน์กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์นี้ แบรนด์ต่าง ๆ ควรปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกับกระแสและความต้องการของคนไทย อาทิ การจัดแคมเปญ การผลิตสินค้าพรีเมี่ยม ไปจนถึงพัฒนาคอมมิวนิตี้รวบรวมกลุ่มผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น Do Good, Feel Close Campaign ใช้การทำบุญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย มาร่วมกับเทคโนโลยี หรือการผลิตสินค้า เพื่อเป็นแม็กเนตดึงดูดผู้บริโภค อาทิ จัดชิงโชคสิทธิร่วมอีเวนต์ไลฟ์ทำบุญกับศิลปิน ด้วยการซื้อชุดทำบุญซึ่งประกอบไปด้วยดอกไม้ หนังสือสวดมนต์ และการ์ดขอบคุณจากศิลปิน ช่วยให้แฟน ๆ ของศิลปินมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น

หรือต่อยอดกระแสรักตัวเอง (Self-Love) ที่เป็นอีกเทรนด์มาแรง ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ผู้บริโภคสามารถเขียนข้อความให้กำลังใจตัวเอง และข้อความเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปให้ผู้เขียนในอีก 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้รักและเห็นคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

จับตาความเชื่อมั่นรัฐ-ระบบ กม.

นางสาวปุณยวีร์ย้ำว่า นอกจากประเด็นเศรษฐกิจแล้ว ผู้บริโภคชาวไทยยังให้ความสนใจกับความปลอดภัยและความยุติธรรม รวมถึงความกังวลต่อการบริหารจัดการของรัฐในหลายมิติ สะท้อนจากข่าวคดีความรุนแรงต่าง ๆ ที่ติดอันดับต้น ๆ ของเรื่องที่ถูกพูดถึงในช่องทางสื่อสารต่าง ๆ เช่นเดียวกับการติดตามอัพเดตข่าวสารการเมืองและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

พฤติกรรมเหล่านี้ต่างสื่อถึงความไม่มั่นใจต่อการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบและสถาบันต่าง ๆ ที่ควรมีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและสร้างความเชื่อมั่นในสังคม