ไมเนอร์ ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน ดันโรงแรม 1,000 แห่ง-ร้านอาหารบุก ตปท.

miner
ดิลลิป ราชากาเรีย

ไมเนอร์ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน โฟกัสธุรกิจโรงแรม 80% ตั้งเป้า 5 ปีโรงแรมแตะ 1,000 แห่ง ด้านร้านอาหารส่งแดรี่ ควีนประกบเซเว่นฯ พร้อมดันกาก้า-Sanook Kitchen บุกเบิกอินโดนีเซีย-อินเดีย เน้นยุทธศาสตร์ Asset-light ขายแฟรนไชส์ รับบริหารโรงแรม มั่นใจหนุนกำไรโตปีละ 15-20% ส่วนรายได้โต 6-8% ต่อปี

นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 7,750 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนกำไรจากธุรกิจโรงแรม 70% และธุรกิจร้านอาหาร 30%

ซึ่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการเดินทางทั่วโลกและการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จในตลาดสำคัญ ไม่ว่าจะในตลาดยุโรป หรืออเมริกา ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในประเทศไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนพุ่งสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การขยายเส้นทางการบิน และกลยุทธ์การขายแบบกำหนดเป้าหมายที่ดึงดูดนักเดินทางคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมียอดขายรวมทุกสาขาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 8% และสิงคโปร์มียอดขายรวมเติบโตขึ้น 12% เป็นผลมาจากการขยายตัวของยอดขายต่อร้านเดิมและจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาแบรนด์ใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ด้วยการแตกแบรนด์สเต๊ก แอนด์ มอร์ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นร้านอาหารระดับพรีเมี่ยมในราคาเข้าถึงได้ และแบรนด์แบทเทอร์แคช ในประเทศสิงคโปร์ เป็นแนวคิดร้านฟิชแอนด์ชิปส์สมัยใหม่ที่ดึงดูดผู้บริโภคในเมือง”

ทุ่ม 1.2 หมื่นล้านขยายธุรกิจ

นายดิลลิปกล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางและแผนการดำเนินงานภายใน 3-5 ปี บริษัทเตรียมงบประมาณโดยรวม 10,000-12,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายการเติบโตใน 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม สัดส่วนประมาณ 80% และธุรกิจร้านอาหาร สัดส่วนประมาณ 20%

ADVERTISMENT

โดยในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร ในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าขยายแบรนด์ร้านอาหารในเครือเพิ่มอีก 50 สาขา โดยเฉพาะแบรนด์ที่ทานได้ง่าย และรวดเร็ว อาทิ กาก้า และแดรี่ ควีน

ซึ่งในส่วนของแบรนด์แดรี่ ควีน จะเน้นขยายสาขานอกห้างมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายควบคู่ไปกับเซเว่นอีเลฟเว่นที่เป็นสาขาสแตนด์อะโลน โดยจะใช้งบฯการลงทุนต่อสาขาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทบนพื้นที่ประมาณ 40-50 ตร.ม. ซึ่งจะใช้งบฯมากกว่าสาขาปกติที่มีพื้นที่ขนาด 25-30 ตร.ม. อยู่ที่ 1.5-1.7 ล้านบาทต่อสาขา

ADVERTISMENT

“ในช่วงกลางปี 2567 จากที่เราได้มีการขยายในรูปแบบดังกล่าวไปแล้วประมาณ 5 สาขาในเขตพื้นที่ปริมณฑล พบว่าสาขานอกห้างมียอดขายต่อเดือน และยอดการใช้จ่ายต่อบิลสูงกว่าในห้างอย่างมาก โดยต่อเดือนมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนบาท ขณะที่ในห้างจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาทต่อเดือน ส่วนยอดการใช้จ่ายต่อบิลสำหรับสาขานอกห้างจะอยู่ที่ประมาณ 200 กว่าบาท ขณะที่ในห้างจะมียอดใช้จ่ายต่อบิลอยู่ที่ 120 บาท ซึ่งในปีนี้เราจะขยายในรูปแบบนี้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว หรือประมาณ 10 สาขา”

ส่วนแบรนด์ร้านอาหารอื่น ๆ ในเครือ จะขยายธุรกิจด้วย Asset-light Model หรือในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น โดยเฉพาะการขยายแฟรนไชส์แบรนด์บอนชอน และกาก้า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทขยายแฟรนไชส์แบรนด์เบนิฮานา, ซิซซ์เล่อร์ และกาก้า ด้วยการเปิดร้านเบนิฮานาที่กรุงปารีส การเปิดสาขาซิซซ์เล่อร์หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น และเวียดนาม และการขยายสาขาร้านกาก้าทั่วประเทศไทย

บุกอินโดฯ-อินเดีย

ขณะที่ตลาดต่างประเทศในปีนี้ บริษัทก็มีแผนที่จะบุกตลาดอินโดนีเซีย ด้วยการนำแบรนด์แดรี่ ควีน และกาก้า เข้าไปบุกตลาดในรูปแบบแฟรนไชส์เพิ่มเติม เช่นเดียวกับตลาดอินเดีย เบื้องต้นจะมีการนำแบรนด์ Sanook Kitchen ที่มีเปิดในประเทศสิงคโปร์ 25 สาขา และมาเลเซีย 2 สาขา เข้าไปบุกตลาดเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสนำแบรนด์ร้านอาหารอื่น ๆ ในเครือเข้าไปบุกตลาดอินเดียเพิ่ม เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ขณะที่ในประเทศจีนก็จะมีแบรนด์ใหม่นอกเหนือจากริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช เข้าไปเปิดด้วยเช่นกัน

นายดิลลิปย้ำว่า สำหรับแผนระยะยาว บริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะขยายแบรนด์ร้านอาหารในเครือเพิ่มอีก 1,500 สาขา ซึ่งจะเน้นขยายแบรนด์หลัก อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ และบอนชอน รวมถึงแบรนด์ที่บริษัทได้สิทธิเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ อาทิ สเวนเซ่นส์, เบอร์เกอร์ คิง และแดรี่ ควีน เป็นต้น คาดว่าภายใน 5 ปีจะมีร้านอาหารครบ 4,500 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั้งหมด 2,700 สาขา

ส่งโรงแรมปักธงตลาดเติบโตสูง

ด้านธุรกิจโรงแรม บริษัทคาดว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2567-2575 ตลาดท่องเที่ยวยุโรปจะเติบโต 4% ไทยเติบโต 8% และตะวันออกกลางเติบโต 8% เนื่องจากแม้ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเผชิญความท้าทายจากนโยบายทรัมป์ และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น แต่ในทางกลับกันยังผลักดันให้ชาวอเมริกันออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย

จึงมุ่งเน้นการขยายการดำเนินงานในตลาดที่มีการเติบโตสูง และใช้กลยุทธ์ลดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร ด้วยการรับบริหารโรงแรมให้กับเจ้าของโรงแรมเป็นหลัก

โดยเฉพาะการขยายไปในประเทศเป้าหมาย ประกอบด้วย อเมริกา เม็กซิโก แอฟริกา เติร์ก โปรตุเกส รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอย่าง ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ โอมาน รวมไปถึงอินเดีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนธุรกิจ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2568-2570 ที่จะขยายโรงแรมเพิ่มอีก 280 แห่ง ตามด้วยเป้าหมายระยะ 5 ปี หรือภายในปี 2572 ซึ่งจะมีโรงแรมครบ 1,000 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 562 แห่ง

จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้เติบโตต่อปี 6-8% และมีกำไรเติบโตต่อปี 15-20%

หลังปี 2567 บริษัทได้เปิดโรงแรมใหม่จำนวน 30 แห่ง รวมกว่า 3,000 ห้องในตลาดสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก ภายใต้โมเดลธุรกิจที่เน้นการลดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้บริษัทสามารถขยายฐานการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนมากในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง โรงแรมใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้รวมถึงโรงแรม NH Collection Helsinki Grand Hansa ในประเทศฟินแลนด์, โรงแรม Anantara Stanley & Livingstone Victoria Falls ในซิมบับเว และ Anantara Jewel Bagh Jaipur Hotel ในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานการดำเนินงานในเมืองสำคัญทั่วทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และโอเชียเนีย