
คอลัมน์ : Market Move
ตำแหน่งศูนย์กลางด้านสุขภาพอาเซียน ที่ไทยครองมานาน อาจกำลังจะถูกสั่นคลอนในระยะเวลาอันใกล้นี้ เมื่อ 2 ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม และ อินโดนีเซีย เริ่มเดินหน้าลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพ ทั้งด้านการแพทย์ (Medical) และการดูแลสุขภาพ (Wellness) ด้วยเป้าหมาย ทั้งดึงดูดผู้ใช้บริการต่างชาติ และตรึงผู้บริโภคท้องถิ่นให้ใช้บริการในประเทศ
โดยขณะนี้ ใน อินโดนีเซีย มีโครงการลงทุนด้านสุขภาพ อาทิ การสร้างโรงพยาบาล และคลินิกด้านต่าง ๆ ตั้งแต่สเต็มเซลล์ ไปจนถึงปลูกผม มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเร่งผลิตแพทย์ด้วยการมอบทุนการศึกษา ประเดิมด้วยเดือนเมษายน 2025 นี้ เตรียมเปิดโรงพยาบาลหรูขนาดมหึมา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างเกาะบาหลี
ส่วน เวียดนาม เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้านการดูแลสุขภาพ ด้วยการปรับสภาพเกาะทางตอนใต้ของเวียดนาม ที่เคยเป็นคุกในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านสุขภาพ ด้านเป้าหมายแข่งขันกับบาหลีของอินโดนีเซีย และภูเก็ตของไทย
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ โรงพยาบาลบาหลีอินเตอร์เนชั่นแนล (BIH) ซึ่งเป็นโครงการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ตร.ม. ตั้งอยู่ใจกลางซานูร์ (Sanur) เมืองชายฝั่งในตะวันออกเฉียงใต้ของบาหลี พร้อมจุดเด่นทั้งดีไซน์หรูหราสไตล์โรงแรม และมีห้องเอ็กซ์คลูซีฟ 250 ห้อง รวมถึงเทคโนโลยีรักษาขั้นสูง ตั้งแต่มะเร็งไปจนถึงประสาทวิทยา จะเริ่มเปิดให้บริการบางส่วน
โดยโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” แห่งแรกของอินโดนีเซีย ในภาคธุรกิจบริการดูแลสุขภาพระดับพรีเมี่ยม และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บนพื้นที่ 41.26 เฮกตาร์ และมีแนวชายฝั่งยาว 2 กิโลเมตร
สำหรับเป้าหมายของโครงการนี้มี 2 ด้าน คือ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มายังบาหลี และดึงดูดเงินประมาณ 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 389,643 ล้านบาท) จากชาวอินโดนีเซียระดับบน ที่เดิมนิยมไปใช้บริการทางการแพทย์ในต่างประเทศ
“อากัส ฮาริมูรติ ยูโธโยโน” (Agus Harimurti Yudhoyono) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาภูมิภาค กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลบาหลีอินเตอร์ฯ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาในบรรยากาศเขียวชอุ่มและเงียบสงบ ซึ่งเหมาะกับการฟื้นฟูทางด้านร่างกาย รวมถึงยังได้ความสงบและสะดวกสบายอีกด้วย
“มายะ วาทาโนะ” ซีอีโอของอินเจอร์นีย์ หนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาโครงการโรงพยาบาลบาหลีอินเตอร์ฯ ให้ความเห็นกับนิกเคอิว่า นอกจากตัวโรงพยาบาลแล้ว ยังมีการสร้างศูนย์ประชุมที่รองรับผู้ร่วมประชุมได้ 5,000 คน และปรับปรุงโรงแรมริมชายหาด 2 แห่งที่เปิดให้บริการแล้ว รวมถึงมีความพยายามเปิดคลินิกเอกชน 8 แห่ง ที่ให้บริการต่าง ๆ ตั้งแต่การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ การดูแลผู้สูงอายุ การปลูกผม และศัลยกรรมพลาสติก ด้วยความร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างชาติ เช่น คลินิก Alster Lake Clinic ของเยอรมนี ที่จะสร้างศูนย์เซลล์ และศูนย์บำบัดชะลอวัย, คลินิก Alpha IVF ของมาเลเซีย ที่จะให้บริการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีโครงการสร้างโรงพยาบาลอีกแห่งใกล้กับสิงคโปร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนในประเทศและพันธมิตรจากต่างประเทศ ทั้งเยอรมนี, อินเดีย และมาเลเซียรวมถึงรัฐบาลอินโดนีเซีย เริ่มมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาแพทย์ เพื่อเร่งสปีดการผลิตแพทย์ด้วย หลังผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เมื่อปี 2023 พบว่า 1 ใน 1,000 ครัวเรือน เคยไปรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจุดหมาย 5 อันดับแรกคือ มาเลเซีย, สิงคโปร์, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งการตรวจสุขภาพเป็นบริการที่ผู้คนต้องการมากที่สุด
ด้านเวียดนามมีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกาะกงด๋าว (Con Dao) ในเวียดนามตอนใต้ ซึ่งเคยเป็นเรือนจำในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ถูกนำมาพัฒนาเป็นหมู่บ้านเพื่อสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งมีบริการเชิงสุขภาพองค์รวมหลากหลาย ตั้งแต่การฝึกสมาธิ, อาหารคลีน, การวิเคราะห์การนอน และการบำบัดด้วยความร้อนจากรังสีอินฟราเรด โดยนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยจ่ายเงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 33,880 บาท) ต่อคืน เพื่อมาใช้บริการ หรือการตั้งหมู่บ้าน และรีสอร์ตแนวสุขภาพในหลายพื้นที่
“มินห์ ตำ เหงียน” (Minh Tam Nguyen) ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมซิกซ์เซนซ์ กงด๋าว (Six Senses Con Dao) ที่ลงทุนเงินกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 135 ล้านบาท) ในการเปิดตัวหมู่บ้านเพื่อสุขภาพ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 กล่าวว่า น่าเสียดายที่ผ่านมาในเวียดนามนั้น ผู้บริโภคกำลังซื้อสูงและสนใจสุขภาพจำนวนมาก จำเป็นต้องเดินทางไปอินเดียหรือไทยเพื่อรับบริการ
สอดคล้องกับความเห็นของ “มิเชลล์ ฟอร์ด” (Michelle Ford) ผู้ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นเวลากว่า 20 ปี ก่อนจะเปิดนาเมีย รีสอร์ต (Namia Resort) ที่ใจกลางเมืองฮอยอัน ในเดือนธันวาคม 2025 กล่าวว่า ไม่ว่าจะไทยหรือบาหลี ต่างมีความแข็งแกร่งด้านธุรกิจสปาและสุขภาพ ซึ่งเวียดนามก็มีความแข็งแกร่งทางด้านเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสอยู่ในพื้นที่ในระดับโลก
ความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ประเทศ สะท้อนความพยายามและการแข่งขันชิงเดสติเนชั่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะดุเดือดขึ้นในอนาคต