“ไทม์ วัลเลย์” เผยยุทธศาสตร์ มัลติแบรนด์นาฬิกาลักเซอรี่

time
เอ็ดดี้ ฮาน
สัมภาษณ์

ร้านนาฬิกาลักเซอรี่ที่จำหน่ายนาฬิการาคาสูงระดับเริ่มต้น 3,000 ยูโร หรือประมาณ 100,000 บาท เป็นอีกธุรกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายจากทั้งการแข่งขันดุเดือด และการเปลี่ยนรุ่นของผู้บริโภค ซึ่ง “ไทม์ วัลเลย์” (TimeVallee) หนึ่งในบูทีคหรือร้านนาฬิกาลักเซอรี่ แม้จะเป็นหน้าใหม่ที่ก่อตั้งมาประมาณ 10 ปี แต่ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจเฉพาะตัว ทำให้สามารถขยายธุรกิจต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสาขาใน 14 ประเทศ อาทิ จีน, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ไทย ฯลฯ รวม 52 สาขา และเตรียมขยายเพิ่มในอีกหลายประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “เอ็ดดี้ ฮาน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทม์ วัลเลย์ เอเชีย-แปซิฟิก ถึงยุทธศาสตร์ของบริษัทที่ใช้รับมือการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลง รวมถึงแผนปี 2568 ที่จะต่อยอดธุรกิจทั้งในไทย และทั่วโลก

“เอ็ดดี้” กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดมีความท้าทายหลัก 2 ด้าน คือ การแข่งขันในระดับโลกที่ดุเดือด และความท้าทายในการเข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่อายุ 25-40 ปี โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มที่ท้าทายสูงสุด เพราะมีพฤติกรรมแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้ามาก ทำให้กลยุทธ์เดิมที่เคยใช้ไม่มีประสิทธิภาพ

บริษัทจึงมุ่งสร้างความแตกต่าง และจุดเด่นใน 2 ด้านสำคัญ คือ ไลน์อัพสินค้า และประสบการณ์ตั้งแต่ก่อนไปจนถึงหลังการขาย โดยวางรูปแบบธุรกิจเป็นบูทีคนาฬิกาลักเซอรี่แบบมัลติแบรนด์ที่รวมสินค้าจากแบรนด์ต่าง ๆ ไว้มากถึง 32 แบรนด์ อาทิ Baume & Mercier, Cartier, IWC Schaffhausen, Jaeger-LeCoultre, Panerai, Piaget, Roger Dubuis, Vacheron Constantin ฯลฯ

พร้อมเสริมด้วยบริการที่เน้นประสบการณ์ซึ่งหาไม่ได้จากผู้ค้ารายอื่น ด้วยการจับมือกับแบรนด์ดังในวงการต่าง ๆ อาทิ กาตาร์ แอร์ไลน์, กลุ่มโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล, เมอร์เซเดส-มายบัค จัดกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างจากการใช้บริการผู้ค้ารายอื่น ๆ และเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์

ขณะที่ตัวร้านนั้นใช้แนวคิดการออกแบบที่เปิดโล่งไม่มีประตู ทำให้ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาได้โดยไม่มีแรงกดดัน รวมถึงให้แต่ละแบรนด์สามารถออกแบบโซนแสดงสินค้าในร้านได้เอง ด้านการบริการของพนักงานเน้นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว มากกว่าการปิดการขาย

ADVERTISMENT

ส่วนการเข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่นั้น อาศัยมุ่งสร้างตัวตนของแบรนด์บนโลกออนไลน์ให้แข็งแกร่ง ในฐานะเครื่องมือสำคัญสำหรับดึงลูกค้าให้มายังร้าน สอดรับกับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่เมื่อสนใจนาฬิกาลักเซอรี่ จะหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรก โดยความสำเร็จของแนวทางนี้สะท้อนจากผลตอบรับที่ดีในตลาดจีน ซึ่งบริษัทสามารถขยายธุรกิจได้ถึง 31 สาขา

สำหรับการขยายธุรกิจนั้น แม้ตลาดจะมีการแข่งขันสูง แต่หลายภูมิภาคและหลายประเทศยังมีช่องว่างให้ขยายธุรกิจได้อีก ทั้งจีน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าขยายสาขาในเวียดนาม, ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา

ADVERTISMENT

ส่วนในประเทศไทยยังมีโอกาสขยายธุรกิจได้อีก เนื่องจากความต้องการสินค้าลักเซอรี่สูงทั้งจากผู้บริโภคชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เห็นได้จากช่วง 6 เดือนแรกของการเปิดสาขาคิง เพาเวอร์ รางน้ำ มีลูกค้าต่างชาติ 65% ชาวไทย 35%

โดยขณะนี้กำลังศึกษาจังหวะเวลาที่เหมาะสม เมืองที่ใช่ และทำเลที่เหมาะสมสำหรับการขยายสาขาตามแนวคิดเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นพื้นที่ที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่น อาทิ ศูนย์การค้าหรือสนามบิน ซึ่งมีการพูดคุยกับคิง เพาเวอร์ อยู่เสมอ พร้อมกับเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือกับแบรนด์สินค้า-บริการของไทยที่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์สอดคล้องกัน เพื่อมาสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าในประเทศไทย

หลังปัจจุบันมีกิจกรรมเวิร์กช็อป IWC Watchmaking Class ซึ่งให้ลูกค้าลองถอดประกอบนาฬิกา ภายใต้การดูแลของช่างนาฬิกาจากแบรนด์ IWC โดยนำมาจัดที่ไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากจีน

ทั้งนี้ เชื่อว่าความเชี่ยวชาญของบริษัท รวมกับประสบการณ์ความเข้าใจตลาดในประเทศไทยของคิง เพาเวอร์ จะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการเข้ามาทำตลาดของ TimeVallee ในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน