เพิ่มโซนนิ่ง “แอลกอฮอล์” เสริมศักยภาพท่องเที่ยว-หนุนเศรษฐกิจ

alcohol
ธิปไตร แสละวงศ์-อัญชลี ภูมิศรีแก้ว-ทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์-รวัตร คงชาติ

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรง โดยภาคเอกชนทั้งสมาพันธ์สุราและไวน์นานาชาติแห่งเอเชียแปซิฟิก (APISWA), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน ไม่เพียงร่วมแชร์ผลจากการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้

แต่ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดท่องเที่ยวอาเซียน รวมถึงผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น ในงานเผยผลวิจัย “การส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : อิทธิพลของประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มแบบพรีเมี่ยมที่มีต่อการเลือกจุดหมายปลายทาง” ที่จัดโดย สมาพันธ์สุราและไวน์นานาชาติแห่งเอเชียแปซิฟิก และบริษัทที่ปรึกษาเศรษฐกิจ Oxford Economics

“เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์” นายกสมาคมโรงแรมไทย ฉายภาพว่า จากผลวิจัยของ Oxford Economics ซึ่งสำรวจนักท่องเที่ยวจำนวน 1,800 คน จาก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน, เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ที่ต้องการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบว่า 71% ให้น้ำหนักกับประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม หรือแม้แต่การช็อปปิ้ง อีกทั้ง 75% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้เช่นกันนั้น

ชี้ให้เห็นศักยภาพและความสำคัญของประสบการณ์ด้านอาหาร-เครื่องดื่ม และจุดอ่อนที่ทำให้ไทยอาจเสียเปรียบคู่แข่ง เนื่องจากแม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงได้ เช่น บาร์บนดาดฟ้าอาคาร-โรงแรมหลายแห่ง แต่การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ จะทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ทราบเรื่องนี้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีแทน และอาจนำไปบอกต่อสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อการท่องเที่ยว

ตรงกันข้ามกฎหมายนี้ กลับแทบไม่ส่งผลกับการดื่มของผู้บริโภคชาวไทยเพราะสามารถเตรียมการล่วงหน้า เช่น ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ก่อนได้

ควรปลดล็อกแบบบูรณาการ

นอกจากการปลดล็อกวัน-เวลาจำหน่ายแล้ว ภาคเอกชนยังเสนอให้มีการปลดล็อก-แก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ควบคู่กัน เช่น การโฆษณา และการจัดโซนนิ่ง เพื่อความชัดเจน โปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด

ADVERTISMENT

“อัญชลี ภูมิศรีแก้ว” ผู้อำนวยการสมาพันธ์สุราและไวน์ฯ กล่าวว่า ภาครัฐควรปลดล็อกหรือเพิ่มความชัดเจนของข้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การโฆษณา เนื่องจากแม้จะปลดล็อกให้สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ได้ แต่การลงรูปภาพสินค้ากลับยังผิดกฎหมายการโฆษณา เป็นต้น ซึ่งจุดนี้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ที่ต้องพึ่งการจำหน่ายผ่านออนไลน์เป็นหลัก ส่วนความกังวลด้านการเข้าถึงของเยาวชนนั้นเชื่อว่าสามารถนำโนว์ฮาวจากต่างประเทศมาปรับใช้ได้

ADVERTISMENT

สอดคล้องกับความเห็นของ “ธิปไตร แสละวงศ์” นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ เสริมว่า ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ ยังเผชิญปัญหาจากความซ้ำซ้อนของกฎหมายหลายด้าน เช่น ใบอนุญาตที่แยกย่อยจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจถูกต้องมีต้นทุนที่ไม่จำเป็นจนความสามารถในการแข่งขันลดลง หรือกฎเกณฑ์ด้านการโฆษณาที่มีความคลุมเครือหลายจุด และการให้รางวัลนำจับ ยังเปิดช่องให้เกิดการทุจริตอีกด้วย

แนะจัดโซนนิ่ง-ใบอนุญาต

“เรวัตร คงชาติ” กรรมการสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน เสริมว่า นอกจากการยกเลิกการห้ามในวันพระใหญ่ หรือห้ามขายช่วงบ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็นแล้ว หากมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่เปิดผับบาร์ รวมถึงปรับระบบใบอนุญาตผู้ประกอบการใหม่ จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันการจัดโซนนิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ตัวอย่าง เช่น ย่านข้าวสาร หรือเลียบด่วน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีที่สำคัญ กลับไม่ได้อยู่ในโซนนิ่ง ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องถือใบอนุญาตร้านอาหารที่เปิดทำการได้ถึงเที่ยงคืนเท่านั้น ระยะเวลาสั้นกว่าใบอนุญาตผับบาร์ที่เปิดได้ถึงตี 2 เมื่อรวมกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะมาใช้บริการหลังเลิกงาน หรือช่วงค่ำ เท่ากับมีเวลารองรับลูกค้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

ดังนั้นการจัดโซนนิ่งใหม่ หรือสร้างใบอนุญาตชนิดใหม่สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารกลางคืนที่สามารถเปิดดำเนินการได้ถึงตี 2 หรือตี 4 จะมีผลช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการได้มากกว่า ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการมีรายได้มากขึ้น ภาครัฐจะได้รายได้ทั้งจากการท่องเที่ยว และภาษีรายได้นิติบุคคลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกันการปรับปรุงข้อจำกัดในการจำหน่าย-โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ จากการที่ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดีขึ้น และรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างชาติ เช่น เวียดนาม ซึ่งกำลังผลักดันตัวเองเป็นเดสติเนชั่นท่องเที่ยวในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน