เวิร์คพอยท์ ปี’67 ขาดทุน 201 ล้านบาท เร่งปรับแผน-ลดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ

เวิร์คพอยท์

เวิร์คพอยท์ เปิดผลประกอบการปี”67 ขาดทุนสุทธิ 201 ล้านบาท  เผยรายได้ลดลง 3% จากพิษเศรษฐกิจฉุดรายได้โฆษณาหด   กางแผนปี 2568 เตรียมปรับกลยุทธ์ลดการจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ-เลิกผลิตละคร เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว

นายสุรการ ศิริโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK  รายงานผลประกอบการของบริษัท สิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2567 ระบุว่า บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 201.02 ล้านบาท จากปี2566 มีกำไรสุทธิ 13.48 ล้านบาท

สำหรับรายได้รวมตามงบการเงินรวมในปี 2567 (ไม่รวมรายได้อื่น) เท่ากับ 2,339.78 ล้านบาท ลดลง 79.34 ล้านบาท หรือลดลง 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งมีรายได้รวม (ไม่รวมรายได้อื่น) 2,419.12 ล้านบาท

โดยมีรายได้มาจาก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ รายได้จากธุรกิจรายการโทรทัศน์ ประกอบด้วย รายได้จากการขายโฆษณาและโปรโมตในช่วงเวลาต่าง ๆ ของช่อง WORKPOINT และช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของบริษัท รวมถึงรายได้จากการให้เช่าช่วงเวลาให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อออกอากาศรายการโทรทัศน์ในช่อง WORKPOINT, รายได้จากการรับจ้างผลิตรายการ และรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการไปยังต่างประเทศ

พิษ ศก.ฉุดรายได้โฆษณา

ซึ่งในปี 2567 บริษัทมีรายได้จากรายการโทรทัศน์รวมเท่ากับ 1,643.78 ล้านบาท ลดลง 252.45 ล้านบาท หรือลดลง 13% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จึงมีรายใต้จากรายการโทรทัศน์รวมเท่ากับ 1,896.24 ล้านบาท โดยการลดลงของรายได้จากธุรกิจรายการโทรทัศน์หลัก ๆ เป็นไปตามการลดลงของรายได้โฆษณาผ่านช่องทางโทรทัศน์และออนไลน์ เนื่องจากสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ในการขายโดยการเพิ่มสัดส่วนงานประเภทรายการรับจ้างผลิต รวมถึงการผลิตรายการตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทมีรายได้รับจ้างผลิตเพิ่มขึ้น

ADVERTISMENT

ธุรกิจรับจ้างจัดงานโต 78%

ขณะที่รายได้จากการรับจ้างจัดงาน ประกอบด้วย รายได้จากการจัดงาน Event ต่าง ๆ ทั้งที่ผลิตให้แก่บุคคลภายนอกและจัดขึ้นเองโดยบริษัท โดยในปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการรับจ้างจัดงานทั้งสิ้น 282.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเวลาเดียวกับของปี 2566 ซึ่งมีรายได้เท่ากับ 158.51 ล้านบาท

โดยรายได้จากการจัดงาน Event ที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามทิศทางความต้องการของลูกค้าในการจัดงานเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทในการขายงานประเภท Event ควบคู่สื่อรายการโทรทัศน์ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้า โดยในปี 2567 บริษัทมีงานที่สำคัญ ได้แก่ ซีเจ มอร์ ไมค์ทองคำ ออนทัวร์ SS3, TikTok Awards Thailand 2024 และงานกาชาด 2567 เป็นต้น

ADVERTISMENT

แบกต้นทุนจัดคอนเสิร์ต-ละครเวที

ส่วนรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและละครเวที ประกอบด้วย รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีที่บริษัทจัดขึ้นเอง และรายได้จากผู้ให้การสนับสนุนสปอนเซอร์โรงละคร ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากคอนเสิร์ตและละครเวทีในปี 2567 เท่ากับ 323.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.53 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งมีรายได้เท่ากับ 291.44 ล้านบาท

ซึ่งในปี 2567 บริษัทมีการจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 โดยงานสำคัญที่บริษัทได้จัดขึ้นในปี 2567 ได้เเก่ Mark Tuan : The Other Side Asia Tour 2024, นิทานหิ่งห้อย เคอะมิวสิคัล และคอนเสิร์ตคุณพระช่วยสำแดงสด THAIHUB เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการอื่น ประกอบด้วย รายได้จากการบริหารพื้นที่โรงละครของบริษัท และรายได้จากการจัดหานักแสดงเป็นหลัก โดยในปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการอื่นเท่ากับ 89.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.49 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งมีรายได้เท่ากับ 72.94 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการจัดหานักแสดงของศิลปินในสังกัด

อย่างไรก็ดีในปี 2567 บริษัทมีต้นทุนผลิตทั้งสิ้น 1,952.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170.43 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีต้นทุนผลิตเท่ากับ 1,781.61 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากธุรกิจรับจ้างจัดงาน และต้นทุนจากธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตและละครเวที เนื่องจากในปี 2567 บริษัทมีการจัดคอนเสิร์ตละครเวทีเเละงาน Event เพิ่มขึ้น

ลดการจัดคอนเสิร์ต-หันโฟกัส JV แทน

ขณะที่กำไรขั้นต้น ในปี 2567 บริษัทมีกำไรขั้นต้นเท่ากับ 387.75 ล้านบาท ลดลง 249.77 ล้านบาท หรือลดลง 39% จากปีก่อนที่มีกำไรขั้นต้น 637.52 ล้านบาท โดยการลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของกำไรขั้นต้นของธุรกิจรายการโทรทัศน์ และการลดลงของกำไรขั้นต้นของธุรกิจคอนเสิร์ตและละครเวทีเนื่องจากการจัดคอนเสิร์ตในปี 2567 มีการแข่งขันค่อนข้างสูง

ส่งผลให้งานคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศและงานเทศกาลดนตรีในประเทศ ที่บริษัทจัดไม่เป็นไปตามที่บริษัทได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ในปี 2568 บริษัทมีการปรับกลยุทธ์สำหรับธุรกิจคอนเสิร์ตโดยจะลดการจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศลง เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขัน และสำหรับงานเทศกาลดนตรีในประเทศนั้น บริษัทมีแผนที่จะจัดทำร่วมกับพันธมิตรค่ายเพลงอื่น ๆ ผ่านการลงทุนร่วมกัน

สำหรับในส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในปี 2567 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เท่ากับ 703.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเท่ากับ 654.28 ล้านบาท

โดยหากแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการขาย ในปี 2567 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายเท่ากับ 132.25 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่งเท่ากับ 155.63 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ และค่าตอบแทนจากการขาย ซึ่งแปรผันตามรายได้ธุรกิจรายการโทรทัศน์ที่ลดลง

ขณะที่ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหาร ปี 2567 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเท่ากับ 571.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.54 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 489.65 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดยเฉพาะสินทรัพย์ประเภทลิขสิทธิ์ละคร

ปรับแผนเลิกผลิตละคร

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้น บริษัทมีแผนเลิกผลิตละครซึ่งจะส่งผลให้ค่าตัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ละครซึ่งบันทึกในต้นทุนและการตั้งด้อยค่าลิขสิทธิ์ละครลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หากไม่รวมการตั้งด้อยค่าดังกล่าว ในปี 2567 บริษัทมีค่าใช้จ่ายบริหารเท่ากับ 457.39 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน เท่ากับ 477.23 ล้านบาท โดยการลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายสำนักงานและค่าสาธารณูปโกคที่ลดลงตามนโยบายการประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัท

นอกจากนี้ ในปี 2567 บริษัทมีกำไร 17.80 ล้านบาท จากการที่บริษัทได้มาซึ่งอำนาจควบคุมในบริษัท ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และการซื้อสินทรัพย์จากการร่วมค้า จำนวน 8.83 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทย่อยแห่งหนึ่งของบริษัทได้ซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอฟดับเบิ้ลยูอาร์ จำกัด 70%