เต็ดตรา แพ้ค-ดัชมิลล์ ส่งนวัตกรรมเก็บอินไซต์-เอาใจลูกค้าสู้ศึกตลาดนม

เต็ดตรา แพ้ค-ดัชมิลล์

เต็ดตรา แพ้ค จับมือ ดัชมิลล์ นำเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดฝังบนบรรจุภัณฑ์นมพร้อมดื่ม UHT หวังสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคและเก็บข้อมูลอินไซต์ผ่านแคมเปญ “Dutch Mill Point Rewards” เพื่อเอาใจลูกค้าได้ตรงจุด แย้มปี 2568 เตรียมดึง “ต้าเหนิง กัญญาวีร์” นั่งแท่นพรีเซ็นเตอร์คนใหม่แบรนด์ “ดีน่า” หวังขยายฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมเดินหน้ารุกตลาดอเมริกาเต็มสูบ

นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เทรนด์การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปี 2568 จะมุ่งเน้น 6 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สุขภาพ ความคุ้มค่า ความยั่งยืน ความสะดวกสบาย การสื่อสารที่จริงใจ และประสบการณ์ใหม่ๆ โดยหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงคือ “Experience More” ที่ยกระดับการเชื่อมโยงโลกดิจิทัลเข้ากับผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการประสบการณ์ที่มากกว่าการบริโภคแบบเดิมๆ

โดยผลสำรวจพบว่า 85% ของผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับการค้นหาแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่ตื่นเต้น ส่งผลให้หลายแบรนด์ได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีลูกเล่นมากขึ้น เช่น การนำคิวอาร์โค้ดมาใช้เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ โดยหนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือแบรนด์ “ดัชมิลล์” ซึ่งเป็นคู่ค้ากับเต็ดตรา แพ้ค มากว่า 40 ปี ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการทำการตลาดเพื่อสร้าง Engagement กับผู้บริโภคเช่นเดียวกัน

นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

ดัชมิลล์ ส่งนวัตกรรมเก็บอินไซต์

นายจิตรภณ ไตรรัตน์วรวุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด กล่าวว่า การวางคิวอาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ UHT ถือเป็นความท้าทาย เพราะหากวางผิดตำแหน่งอาจจะทำให้ถูกสแกนจากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้บริโภคตัวจริง อีกทั้งยังต้องมีความท้าทายในด้านขั้นตอนการผลิตด้วยเช่นกัน

ซึ่งการที่บริษัทได้มาร่วมมือกับผู้ผลิตกระดาษ อย่าง เต็ดตรา แพ้ค ที่เข้ามาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถฝังคิวอาร์โค้ดกับสินค้ากว่า 30 SKUs ในตำแหน่งที่ปลอดภัยได้ จึงทำให้เราสามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ

ADVERTISMENT

โดยเบื้องต้นคิวอาร์โค้ดจะถูกวางไว้ใต้จุดพับและชิดกับริมด้านบนของกล่อง เพื่อให้ผู้บริโภคจริงสามารถได้รับแต้มโดยไม่ถูกสแกนจากผู้อื่นก่อน ซึ่งการสร้างคิวอาร์โค้ดของแต่ละแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ อาทิ นมเปรี้ยวดัชมิลล์, ดีน่า และดีมอลต์ จะมีการพิมพ์คิวอาร์โค้ดเฉพาะของแต่ละกล่อง ซึ่งจะแบ่งเป็นทั้งชื่อแบรนด์ ขนาด และรสชาติที่แตกต่างกัน โดยจะมีการสร้างคิวอาร์โค้ดสูงถึงพันล้านโค้ด

ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการรู้จักผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นความถี่ในการบริโภคผลิตภัณฑ์ไลน์ต่างๆ จำนวนที่บริโภค เวลาที่บริโภค ช่วงเวลาที่บริโภค รสใดหรือผลิตภัณฑ์ใดกำลังเป็นที่นิยม

ADVERTISMENT

เต็ดตรา แพ้ค-ดัชมิลล์

ประเดิม “Dutch Mill Point Rewards”

โดยหนึ่งในแคมเปญที่จะเริ่มใช้คิวอาร์โค้ดนี้ก็คือแคมเปญ “Dutch Mill Point Rewards” ซึ่งจะเป็น Loyalty Program ที่ให้ผู้บริโภคสะสมแต้มจากการซื้อสินค้า ซึ่งเบื้องต้นจะสามารถสะสมได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การสะสมยอดซื้อผ่านใบเสร็จ และการสแกนคิวอาร์โค้ดบนกล่อง UHT โดยแต้มที่สะสมแตกต่างกันตามขนาดไซซ์ และสามารถนำไปใช้แลกรับส่วนลด ของรางวัล หรือร่วมลุ้นรางวัลใหญ่ได้

ซึ่งหลังจากที่ได้เริ่มลอนช์แคมเปญดังกล่าวพร้อมกับการใช้นวัตกรรมคิวอาร์โค้ดออกมาในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันมีผู้บริโภคที่รับประทานนมเปรี้ยวดัชมิลล์ตั้งแต่เด็กไปจนถึง Gen X, Gen Y โดยแบรนด์นมเปรี้ยวดัชมิลล์ ยังถือเป็นสินค้าเรือธงของบริษัท โดยมีสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ 60% ของยอดขายทั้งหมด ตามด้วยนมถั่วเหลืองดีน่าที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 ในตลาดนมถั่วเหลืองที่ปัจจุบันมูลค่า 15,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 5%

“เรามองว่าการนำเอาคิวอาร์โค้ดมาใช้ในการทำการตลาดในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้าของแบรนด์ แต่ยังเป็นจุดแข็งที่จะทำให้แบรนด์ได้ข้อมูลผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำแคมเปญออกมาให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น”

เต็ดตรา แพ้ค-ดัชมิลล์

เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่

รวมถึงในแคมเปญนี้จะมีการใช้พรีเซนเตอร์คนเดิมอย่าง “หนุ่ม กรรชัย” พิธีกรรายการชื่อดังอย่างโหนกระแส ที่ทุกเพศทุกวัยต่างเป็นแฟนรายการมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารอีกด้วย จากปีที่ผ่านมาได้สร้าง Brand Engagement ได้เป็นอย่างดีในแคมเปญ “หน่วยกู้สู้ค่าครองชีพ”

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2568 นี้ ในส่วนของแบรนด์ดีน่า ก็จะมีการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่อย่าง “ต้าเหนิง กัญญาวีร์” นักแสดงวัยรุ่นชื่อดัง ที่จะมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารในกลุ่มคนรุ่นใหม่และสายสุขภาพ

บุกขยายตลาดอเมริกา

นายจิตรภณ กล่าวต่อว่า ขณะที่แผนการรุกตลาดต่างประเทศในปี 2568 ด้วยเป้าหมายที่บริษัทอยากจะขยายสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ในปีนี้บริษัทจึงมีแผนที่จะบุกขยายตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่ม เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง จากปัจจุบันมีการส่งออกไปกว่า 20 ประเทศ โดยมีตลาดหลักอยู่ในเอเชีย อาเซียน และตะวันออกกลาง เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้วยแนวทางที่มุ่งเน้นความเป็น Consumer Centric และการใช้เทคโนโลยีในการทำตลาด ดัชมิลล์มั่นใจว่ากลยุทธ์ “Experience More” จะช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

นายจิตรภณ ไตรรัตน์วรวุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด
นายจิตรภณ ไตรรัตน์วรวุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด