สินทรัพย์ทางดนตรี อนาคตอุตฯบันเทิงไทย

รายได้ gmm-rs

ผลประกอบการของ 2 ยักษ์วงการบันเทิงไทยอย่างแกรมมี่ และอาร์เอส ในปี 2567 ที่ผ่านมาสะท้อนถึงแง่มุมต่าง ๆ ของธุรกิจบันเทิงทั้งทิศทาง, โอกาส และความท้าทายในวงการธุรกิจบันเทิงของไทยรวมไปถึงระดับโลก โดยเฉพาะด้านการใช้ประโยชน์จาก “สินทรัพย์ทางดนตรี” (Music IP : Music Intellectual Property) หรือลิขสิทธิ์ในคอนเทนต์เพลง เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ และการเติบโตในระยะยาว

“บุษบา ดาวเรือง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จํากัด (มหาชน) ฉายภาพว่า อุตสาหกรรมเพลงยังมีการเติบโตแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในส่วนของการสตรีมมิ่ง และ Music Subscription ซึ่งเป็นตัวผลักดันสำคัญของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการที่มี “สินทรัพย์ทางดนตรี” อยู่ในมือได้เปรียบ

เห็นได้จากอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปี ขณะที่อุตสาหกรรมเพลงไทย เติบโตสูงถึงเฉลี่ย 26% ต่อปี โดยมีดิจิทัลสตรีมมิ่งเป็นแรงหนุนสำคัญ หลังปัจจุบันตลาดสตรีมมิ่งและ Music Subscription ทั่วโลกสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นตลาดยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตนี้ มาจาก “สินทรัพย์ทางดนตรี” ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างรายได้จากการเผยแพร่, การนำไปใช้, การทำซ้ำ, ดัดแปลง และอื่น ๆ

พร้อมย้ำความเชื่อมั่นว่า ด้วยลิขสิทธิ์ในคอนเทนต์เพลง ซึ่งสั่งสมและมีการพัฒนาต่อยอดมานานกว่า 40 ปี ร่วมกับการมี Music Infrastructure ที่ครบวงจร จะช่วยให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ปี’67 ธุรกิจเพลง-หนังโตพุ่ง

ศักยภาพของการมีสินทรัพย์ทางดนตรี ร่วมกับกระแสการเติบโตของอุตสาหกรรม เห็นได้จากผลประกอบการปี 2567 ของแกรมมี่

ADVERTISMENT

โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อธิบายว่า กระแสการเติบโต และสินทรัพย์ทางดนตรี เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 6,165 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.9% จากปี 2566 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 405.9 ล้านบาท เติบโตขึ้น 100.2%

มีธุรกิจเพลง และธุรกิจภาพยนตร์เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ หลังธุรกิจเพลงมีรายได้ 4,063.4 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 133.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจโชว์บิซ ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของการสร้างรายได้

ADVERTISMENT

ส่วนธุรกิจภาพยนตร์ มีรายได้ 695.8 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 341.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 96.4% ด้วยรายได้จากภาพยนตร์เรื่องหลานม่า ที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่น ๆ มีรายได้ลดลง หรือเติบโตเพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฮมช็อปปิ้งมีรายได้ 1,166.3 ล้านบาท ลดลง 203.2 ล้านบาท หรือลดลง 14.8% ตามยอดขายทั้งในช่องทางดาวเทียมและทีวีดิจิทัลที่ลดลง

เช่นเดียวกับธุรกิจจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวี ซึ่งปิดรายได้ที่ 127.5 ล้านบาท ลดลง 24.7 ล้านบาท หรือลดลง 16.2% เพราะยอดขายกล่องทีวีดาวเทียมลดลงตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับส่วนแบ่งกำไรจาก The ONE Enterprise อยู่ที่ 140.3 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.5%

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าด้วยลิขสิทธิ์ในคอนเทนต์เพลงซึ่งสั่งสมและมีการพัฒนาต่อยอดมานานกว่า 40 ปี ร่วมกับการมี Music Infrastructure ที่ครบวงจร จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง

RS จับกระแสสปีด 2 ธุรกิจ

ในส่วนของอาร์เอส ยักษ์ธุรกิจบันเทิงอีกรายนั้น แนวทางในปี 2568 มีความคล้ายคลึงกัน โดยธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์จะเร่งพัฒนาคอนเทนต์ข่าว และรายการวาไรตี้ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับฐานผู้ชมออนไลน์ ส่วนธุรกิจเพลงเน้นสร้างเพลงใหม่ ๆ ออกมาเพื่อต่อยอดรายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์ บริหารศิลปิน การใช้ดนตรีเพื่อทำตลาด (Music Marketing) และต่อยอดสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกและง่ายขึ้น ส่วนการจัดอีเวนต์ มุ่งพัฒนาอีเวนต์ที่แตกต่างและสร้างสรรค์มากขึ้น

ด้านธุรกิจพาณิชย์นั้น จะใช้กลยุทธ์ออมนิแชนเนล เสริมศักยภาพการจำหน่ายสินค้าสุขภาพให้ครอบคลุมทุกช่องทาง พร้อมเดินหน้าพัฒนาแบรนด์เครื่องหอมและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว Erb ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มปี รวมถึงขยายไลน์สินค้าและเพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งผู้บริโภคทั่วไป และลูกค้าองค์กร อาศัยจังหวะจากกระแสการเติบโตของธุรกิจสปาเป็นแรงผลักดันสำคัญ เช่นเดียวกับธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ที่มุ่งต่อยอดสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของธุรกิจให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตระดับ 20-25% ในปี 2568

ปรับโครงสร้างทำรายได้สะดุด

ส่วนปี 2567 นั้น อาร์เอสมีรายได้จากการขายและบริการรวม 2,678.9 ล้านบาท ลดลง 26.6% จากปีก่อนหน้า โดยบริษัทระบุว่า เป็นผลจากการชะลอตัวของ 2 ธุรกิจหลัก ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง ส่งผลให้ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์มีรายได้ 1,363.8 ล้านบาท ลดลง 38.5% จากปีก่อนหน้า ด้วยผลกระทบหลักจากรายได้สื่อที่อ่อนตัว และกิจกรรมคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่ลดลง รวมถึงรายได้การขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่ลดลงเช่นกัน

ขณะที่ธุรกิจพาณิชย์ในปี 2567 มีรายได้ 1,314.9 ล้านบาท ลดลง 8.2% จากแนวโน้มความนิยม Home Shopping ที่ลดลง สวนทางกับช่องทางออนไลน์ที่เติบโต 68.3% ด้านสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมีรายได้ 242.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.8% จากความสำเร็จของแบรนด์ Lifemate การขยายไลน์สินค้าอาหาร Superfood สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่นเดียวกับการขยาย Hato Pet Wellness สู่ธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์กลุ่ม Premium Mass