‘นารายา’ เร่งขยายตลาดไทย-เทศ จับมือ ‘น้องหมีเนย’ ดันยอดขายโต30%

naraya ‘นารายา’ เร่งขยายตลาดไทย-เทศ จับมือ ‘น้องหมีเนย’ ดันยอดขายโต30%
พศิน ลาทูรัส

“นารายา” เปิดเกมรุกปี 2568 รับดีมานด์ทะลัก เล็งขยายโรงงานอาเซียน-ไทย พร้อมเดินหน้าขยายจุดจำหน่ายในญี่ปุ่นแตะ 150 จุด ด้านตลาดจีนเตรียมรุกผ่านแพลตฟอร์ม “Xiaohongshu” ส่วนในไทยประกาศคอลแลบส์ “น้องหมีเนย” ออกคอลเล็กชั่นใหม่-ขยายฐานลูกค้าคนไทย สิ้นปีตั้งเป้าโต 30%

นายพศิน ลาทูรัส รองประธานกรรมการ บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ “นารายา” เปิดเผยว่า ในปี 2568 นี้ บริษัทเตรียมขยายโรงงานทั้งในไทยและต่างประเทศ เน้นในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาโอกาสในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

ส่วนโรงงานในไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา โดยตามแผนจะเป็นการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโรงงานที่ทำธุรกิจเย็บผ้าอยู่แล้ว คาดว่าหลังจากที่ขยายโรงงานแห่งใหม่ บริษัทจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นราว 50%

ทั้งนี้เพื่อรับมือปัญหาซัพพลายเชนและกำลังการผลิตที่กระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด ทำให้ในปัจจุบันนารายามีโรงงานหลักอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์เพียงแค่ 1 โรง และมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3-4 แสนชิ้นต่อเดือน สวนทางกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น

“การไปขยายโรงงานในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะในแต่ละประเทศก็อาจจะมีนโยบาย และข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน เราจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับโมเดลธุรกิจของเราก่อนที่จะขยายตลาดไปในประเทศนั้น ๆ”

ขยายจุดจำหน่ายในญี่ปุ่น-จีน

ด้านแผนการขยายตลาดต่างประเทศ ในปีนี้บริษัทจะยังโฟกัสตลาดในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขยายจุดจำหน่ายในเครือร้านของ Daiso ที่ปัจจุบันส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายแล้ว 67 จุด โดยจะเพิ่มเป็น 150 จุดภายในปี 2568

ADVERTISMENT

ขณะที่ในตลาดประเทศจีน บริษัทมีแผนที่ขยายช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม หลังจากที่ไม่ได้มีการเข้าไปทำการตลาดมาเป็นเวลานาน โดยจะเริ่มนำสินค้าเข้าไปเปิดตัวผ่านแพลตฟอร์มสำคัญอย่าง Xiaohongshu เป็นที่แรก

หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยเปิดตัวในแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น WeChat และ WePro เป็นต้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่มีศักยภาพสูง

ADVERTISMENT

“ในปีนี้เราจะมุ่งเน้นขยายไปในตลาดเอเชียก่อน เนื่องจากลูกค้าในภูมิภาคนี้มีพฤติกรรมซื้อสินค้าของเรามากกว่าตลาดยุโรปและอเมริกา โดยประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุดในขณะนี้คือ 
สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม”

มุ่งเป็นมากกว่าของฝาก

นายพศินกล่าวว่า นอกเหนือจากการขยายตลาดต่างประเทศแล้ว ในปีนี้บริษัทยังมีแผนที่จะปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์นารายาให้เป็นสินค้าที่มีความฟังก์ชั่นนอล ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น จากเดิมคนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเป็นเพียงแค่ของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา บริษัทก็ได้มีการประกาศคอลแลบส์กับ “Butterbear” หรือน้องหมีเนย มาสคอตที่กำลังเป็นกระแสอย่างมาก ในการเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ “NaRaYa x Butterbear Collection” ที่ประกอบด้วยสินค้า Exclusive Set และสินค้าพิเศษอีก 11 รายการ

“การเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่นี้ ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มวางจำหน่าย ทั้งจากการจำหน่ายผ่านหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้า Exclusive Set ที่มีลูกค้ามารอซื้อสินค้าตั้งแต่ 2 ทุ่มก่อนวันเปิดขาย และ Sold Out จำนวน 300 ชุด ตั้งแต่วันแรก ๆ ของการวางจำหน่าย โดยเบื้องต้นคาดว่าจากการคอลแลบส์ครั้งนี้ จะทำให้สัดส่วนลูกค้าไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม 30% เป็น 40% ขณะที่ต่างชาติ มีสัดส่วนอยู่ที่ 60%”

ทุ่ม 100 ล้านปักธง 3 สาขา

นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2568 บริษัทก็มีแผนที่จะขยายสาขาใหม่เพิ่ม 2-3 แห่ง โดยจะขยายทั้งในรูปแบบสแตนด์อะโลน และในห้าง ซึ่งหนึ่งในสาขาที่กำลังสร้างอยู่จะตั้งอยู่ที่เยาวราช ส่วนสาขาอื่น ๆ กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งคาดจะใช้งบประมาณทั้ง 3 แห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท

ในส่วนของ “นารายา ซิลล์” ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมไทย ปัจจุบันมีสาขาเดียวที่สยามพารากอน และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาด เนื่องจากสินค้าเป็นงานแฮนด์เมด ต้องใช้ความละเอียดสูง บริษัทจึงให้ความสำคัญกับความเสถียรของซัพพลายก่อนการขยาย

มั่นใจโต “ดับเบิลดิจิต”

นายพศินกล่าวทิ้งท้ายว่า จากแผนการขยายกำลังการผลิต การรุกตลาดใหม่ และการสร้างแบรนด์ผ่านการคอลแลบส์ คาดว่าจะส่งให้สิ้นปี 2568 บริษัทจะมีรายได้เติบโตในระดับดับเบิลดิจิต หรือเติบโตประมาณ 30%

“เป้าหมายของเราไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มยอดขายระยะสั้น แต่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าให้กลับมาสนับสนุนแบรนด์ในอนาคต ซึ่งเราเชื่อว่าการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า จะทำให้พวกเขากลับมาซื้อสินค้าอื่น ๆ ของเราได้ต่อเนื่อง”