
“คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟต์” ร้านบุฟเฟต์นานาชาติพรีเมี่ยม ฉลองเข้าสู่ปีที่ 9 คอลแลบส์ 2 แบรนด์ดัง “ชาตรามือ” และ “สก๊อตรังนก” สร้างเมนูใหม่กว่า 20 รายการ หวังขยายฐานลูกค้าไทย-ต่างชาติ ย้ำจุดยืน “Best International Buffet in Southeast Asia” สิ้นปี 2568 ตั้งเป้ารายได้แตะ 1,000 ล้านบาท
นางสาวพจนีย์ พินิจศักดิ์กุล ประธานกรรมการบริหาร คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟต์ เปิดเผยว่า หลังจากเปิดตัวสาขาแรกที่เดอะ เซ้นส์ ปิ่นเกล้า ในปี 2559 และสาขาที่สองที่เกษรอัมรินทร์ ในปี 2567 “คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟต์” สามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้รวมจาก 2 สาขากว่า 800 ล้านบาท และมีลูกค้าเข้าร้านกว่า 480,000 คน แบ่งเป็นคนไทย 65% ต่างชาติ 35% และมีอัตราการจองโต๊ะสูงถึง 70%
คอลแลบส์แบรนด์ดัง
ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ 1,000 ล้านบาทในปี 2568 และยกระดับแบรนด์สู่ระดับภูมิภาค ในโอกาสครบรอบ 9 ปี “คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟต์” จึงเดินหน้าจับมือกับ 2 แบรนด์ระดับโลก ได้แก่ “ชาตรามือ” และ “สก๊อตรังนก” ร่วมกันพัฒนาเมนูพิเศษ โดยได้รับการสนับสนุนจากเชฟมิชลินระดับ 1 ดาว เชฟไฮเคิล โจฮาริ จากร้าน Avant และเชฟแท็ป ศุภสิทธิ์ ก๊กผล จากร้าน CODA Bangkok มารังสรรค์เมนูพิเศษ ทั้งอาหารคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม
“การร่วมมือกับชาตรามือและสก๊อตรังนกครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยยกระดับความเป็นพรีเมี่ยมบุฟเฟต์ และสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 แบรนด์มีฐานลูกค้าที่ใกล้เคียงกับเรา และมีการส่งออกไปยังหลายประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เติบโตของคอปเปอร์ฯเช่นกัน”
เล็งแตกธุรกิจ-โกอินเตอร์
สำหรับแผนขยายสาขาในปี 2568 เบื้องต้นจะยังคงเน้นการเพิ่มยอดขายจาก 2 สาขาที่มีอยู่ก่อน เนื่องจากการขยายสาขาอาจจะมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะทั้งเรื่องของจังหวะเวลา โลเกชั่น และขนาดพื้นที่ที่จะต้องมีพื้นที่รองรับไม่ต่ำกว่า 1,200 ตร.ม. ซึ่งในอนาคตหากมีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ ก็อาจจะมีการขยายสาขาที่ 3 โดยเบื้องต้นจะยังโฟกัสไปที่โซนกรุงเทพฯตะวันออกอยู่
ขณะที่แผนในระยะยาว คอปเปอร์ฯยังศึกษาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยสิงคโปร์เป็นหนึ่งในตลาดที่เคยศึกษามาก่อนแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนและวัตถุดิบ จึงทำให้ยังไม่มีแผนที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะนำแบรนด์ “เตี๋ยวคอปเปอร์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจร้านอาหารในเครือ มาขยายตลาดต่างประเทศ เนื่องจากอาจจะมีความคล่องตัวมากกว่า รวมถึงยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายไลน์ไปทำธุรกิจ “แคเทอริ่ง” ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะนำเมนูยอดนิยมของร้านไปต่อยอด อย่างเช่น ซุปเห็ดทรัฟเฟิล ก๋วยเตี๋ยวเรือ และเมนูญี่ปุ่น
โฟกัสเพิ่มความถี่ใช้บริการ
นางสาวพจนีย์กล่าวย้ำว่า แม้ว่าคอปเปอร์ฯจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้ต่อเนื่อง แต่ความท้าทายสำคัญ คือ เรื่องของการเพิ่มความถี่ในการเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากลูกค้าคนไทยมักมองว่าบุฟเฟต์ระดับพรีเมี่ยม อาจจะเหมาะสำหรับโอกาสพิเศษมากกว่าการรับประทานทั่วไป ทำให้ทีมบริหารจึงต้องหากลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าให้กลับมาบ่อยขึ้น โดยจะเพิ่มเมนูใหม่ และทำการตลาดให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น เพื่อให้คอปเปอร์ฯเป็นตัวเลือกที่ลูกค้านึกถึง ไม่เฉพาะแค่ในโอกาสพิเศษ
อย่างไรก็ตาม จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว คาดว่าจะสามารถก้าวสู่ Best International Buffet in Southeast Asia รวมถึงเป็น Top of Mind ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ