‘ถังป๊อปคอร์น’ อาวุธลับโรงหนังสหรัฐ แม็กเนตผู้ชม-สปีดรายได้

popcorn
คอลัมน์ : Market Move

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ป๊อปคอร์นเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์ชมภาพยนตร์ในโรง และเป็นรายได้สำคัญของโรงภาพยนตร์ และปัจจุบันไม่เพียงป๊อปคอร์น แต่ภาชนะใส่ป๊อปคอร์นได้กลายเป็นอีกหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญของโรงภาพยนตร์เช่นกัน

สะท้อนจากรายได้ของ เอเอ็มซี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (AMC Entertainment) หนึ่งในเชนโรงภาพยนตร์รายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งเริ่มหันมาขายถังป๊อปคอร์น และแก้วน้ำดีไซน์พิเศษ รวมถึงเสื้อยืด เมื่อ 3 ปีก่อนสามารถสร้างรายได้มากขึ้นถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,194 ล้านบาท)

“อดัม อารอน” ซีอีโอของเอเอ็มซี กล่าวว่า แนวคิดนี้เริ่มต้นจากภาพยนตร์ของบริษัทอย่าง “Taylor Swift : The Eras Tour” ที่ออกฉายในเดือนตุลาคม 2023 ซึ่งสามารถทำยอดขายถังป๊อปคอร์นได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทหันมาทำสินค้าวางจำหน่ายถี่แบบรายเดือน

เครือโรงภาพยนตร์อื่น ๆ เช่น Cinemark, Marcus, Regal และ B&B ก็หันมาใช้ไอเดียในการทำถังป๊อปคอร์นเช่นเดียวกัน โดยใช้ถังป๊อปคอร์นดีไซน์พิเศษเพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้า และสร้างความรู้สึกถึงความจำเป็นในการรับชมภาพยนตร์ในช่วงสัปดาห์เปิดตัว และเพิ่มมูลค่าให้กับประสบการณ์ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์

“พอล ฟาร์นสเวิร์ท” (Paul Farnsworth) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและเนื้อหาของ B&B Theaters อธิบายว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนเริ่มลืมเลือนการมาดูภาพยนตร์ในโรง ทำให้การสร้างประสบการณ์ในการรับชมทวีความสำคัญมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ปัญหาการผลิตภาพยนตร์ของฮอลลีวูดทำให้มีการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์น้อยลงและยอดขายตั๋วในปี 2024 ก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยรายได้จากการขายตั๋วหน้าโรงภาพยนตร์ลดลง 3.4% จากปี 2023 เหลือ 8,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 295,062 ล้านบาท)

ADVERTISMENT

ฟาร์นสเวิร์ทสันนิษฐานว่า ถังป๊อปคอร์นดีไซน์พิเศษนั้นจะสามารถเพิ่มมูลค่าในการเดินทางมาดูภาพยนตร์และสร้างความทรงจำที่ดี รวมถึงถังป๊อปคอร์นนี้ยังสามารถนำกลับไปบ้าน วางโชว์บนชั้นวาง หรือนำมาใช้ซ้ำเมื่อรับชมภาพยนตร์ที่บ้าน

ไอเดียนี้ส่งผลดีอย่างมากต่อกำไรของบริษัท โดยสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด นั่นก็คือการที่ผู้ชมมาที่โรงภาพยนตร์และได้ของติดมือกลับบ้าน อีกทั้งยังได้ถ่ายรูปกับของต่าง ๆ เหล่านั้นที่โรงภาพยนตร์ด้วย

ADVERTISMENT

“ฌอน แกมเบิล” (Sean Gamble) ซีอีโอของ Cinemark กล่าวว่า การทำถังป๊อปคอร์นลาย “Scream” เมื่อปี 2023 นั้น สร้างความประหลาดใจให้กับบริษัท หลังได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลามจนสินค้าหมดทันที ทำให้บริษัทต้องนำมาวางขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ในภายหลัง

ทั้งนี้ การขายถังป๊อปคอร์นดีไซน์พิเศษนั้นเป็นกลยุทธ์หนึ่งของธุรกิจสวนสนุกมาอย่างยาวนาน และช่วยขับเคลื่อนรายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศของดิสนีย์ (Disney) และยูนิเวอร์แซล (Universal) อย่างไรก็ตาม โรงภาพยนตร์ในสหรัฐกลับไม่นำกลยุทธ์นี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจจนถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้

“ร็อด เมสัน” (Rod Mason) รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจของซิงก์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการออกแบบ-ผลิตถังป๊อปคอร์นและแก้วน้ำ อธิบายสาเหตุของเรื่องนี้ว่า โรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งลังเลที่จะนำถังป๊อปคอร์นและแก้วน้ำดีไซน์พิเศษมาจำหน่ายเพราะมันไม่พอดีกับที่วางของที่นั่งในโรง

ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญขึ้นเมื่อปี 2019 โรงภาพยนตร์เอเอ็มซี สั่งซื้อถังป๊อปคอร์น R2D2 ที่ผลิตขึ้นเพื่อภาพยนตร์ Star Wars : The Rise of Skywalker ไปหลายหมื่นชิ้น และสามารถขายได้หมดในเวลาเพียง 3-4 วัน แม้ราคาจะสูงถึง 49.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,687 บาท) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อีกจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดถังป๊อปคอร์นเกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัวถังป๊อปคอร์นจากภาพยนตร์ “Dune : Part Two” ซึ่งถังป๊อปคอร์น “Dune” ราคา 24.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 843 บาท) นั้นถูกนำไปจำหน่ายต่อในตลาดมือสองด้วยราคาที่สูงขึ้นหลายเท่า สะท้อนจากบน อีเบย์ (eBay) มีการขายถังป๊อปคอร์นเหล่านี้ในราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 210 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,687-7,087 บาท) ต่อหนึ่งชิ้น

นอกจากนี้ ลินด์เซย์ บรูกเชียร์ (Lindsay Brookshier) ผู้อำนวยการฝ่ายเนื้อหาของ MickeyVist.com เสริมว่า กระแสความนิยมของถังป๊อปคอร์นบนโซเชียลมีเดียรวมกับการที่ถังป๊อปคอร์นเหล่านี้เป็นสินค้าจำนวนจำกัด ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึก “กลัวที่จะตกกระแส” นำไปสู่การกระตุ้นให้ซื้อถังป๊อปคอร์นเหล่านี้เมื่อวางจำหน่าย

หลังจากนี้ต้องรอดูกันว่าภาพยนตร์ใหม่ ๆ ในปีนี้จะมาพร้อมถังป๊อปคอร์นรูปแบบใดบ้าง และจะสร้างรายได้ให้กับโรงภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน