ไม่ยอมแพ้ ‘ยืดเปล่า’ เผยเคล็ดลับสร้างแบรนด์ดังจากทุน 8,000 บาท

ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว
ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว

จาก 8,000 บาท สู่แบรนด์ 1,100 ล้าน “ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว” เจ้าของแบรนด์ ‘ยืดเปล่า’ เผยเคล็ดลับพาธุรกิจแผงเสื้อผ้าตลาดนัด ฝ่าอุปสรรค-ความท้าทาย สู้แบรนด์ดังขึ้นห้าง พร้อมท้าชนคู่แข่งระดับโลก

นายทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ยืดเปล่า” กล่าวในงานเสวนา PRACHACHAT FORUM: NEXT MOVE Thailand 2025 ภายใต้หัวข้อ ตามหาโอกาส..โลกป่วน เกมเปลี่ยน ว่าการเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นความท้าทายที่สามารถสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ หากมองเห็นโอกาสและไม่ยอมแพ้ โดยเฉพาะในวงการค้าขายที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างรุนแรง

“ช่วงเริ่มต้นธุรกิจนั้นมีเงินทุนเพียงแค่ 8,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ขอแม่มา 5,000 บาท และใช้เงินตัวเองอีก 3,000 บาท แต่ด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้เกมธุรกิจทั้งด้านการผลิต บริหารสต๊อกสินค้า และการขายหน้าร้าน ช่วยให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง” นายทนงค์ศักดิ์กล่าว

ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ยืดเปล่า” อธิบายว่า เส้นทางการเข้าสู่ธุรกิจแฟชั่นนั้น เริ่มต้นจากการขายสินค้าราคาประหยัด เช่น กางเกงขาสั้นและบ็อกเซอร์มือสองในตลาดนัดย่านรามคำแหง แม้วันแรกจะขายได้เพียง 200 บาท แต่รับมือด้วยการปรับยุทธศาสตร์การตั้งแผงเพิ่มความโดดเด่นสะดุดตาตั้งแต่ เพิ่มจำนวนสินค้าตัวโชว์ เปลี่ยนรูปแบบการพับสินค้าให้ดูน่าสนใจ ซื้อไฟมาติดในร้านเพิ่มความสว่าง ฯลฯ ช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากหลักร้อยสู่หลักพันบาท

นายทนงค์ศักดิ์กล่าวต่อไปว่า การขยับขยายจากธุรกิจซื้อมาขายไป ไปสู่การสร้างแบรนด์ และผลิตสินค้าเองเป็นอีกจุดที่ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ โดยช่วงประมาณ ปี 2556 ที่เริ่มหันมาทำแบรนด์เองนั้นประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ไม่สามารถตั้งราคาจำหน่ายในระดับที่แข่งขันได้ จนยอดขายหายไปถึง 95% และเกือบจะต้องเลิกกิจการ

จึงต้องรับมือด้วยการลีนต้นทุนการผลิตซึ่งมีไฮไลต์เป็นการใช้ “ผ้าสต๊อก” หรือผ้าที่โรงงานสั่งมาสำรองสำหรับการแก้ไขข้อผิดพลาดในการผลิต ซึ่งหากไม่ได้ใช้งานมักถูกนำมาขายต่อในราคาถูกลงถึง 50% และ “ผ้าเกรด B” หรือผ้าที่มีตำหนิเล็กน้อยมักถูกนำมาขายต่อในราคา 50% เช่นกัน เมื่อได้ผ้าเหล่านี้มาจึงสามารถทำราคาที่แข่งขันได้อีกครั้ง ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

ADVERTISMENT

ในส่วนของการทำแบรนด์ยืดเปล่านั้น ใช้ยุทธศาสตร์ผสมผสานระหว่างจุดขายที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างการเป็น เสื้อยืดที่ไม่ย้วย รวมกับราคาจับต้องง่ายที่ 100 บาท ด้วยการทำให้ไลน์อัพสินค้าเรียบง่ายมีเพียงเสื้อยืด และผลิตในประเทศ 100% ช่วยให้สามารถบริหารสต๊อกสินค้าได้ง่าย ควบคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ จึงสามารถทำราคาที่แข่งขันได้

ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกความท้าทายสำคัญ โดยแบรนด์ตัดสินใจแบบสวนกระแส ด้วยการอัดงบฯ ด้านการตลาดเพิ่ม พร้อมมุ่งไปยังช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ฯลฯ แทนหน้าร้านที่ถูกกระทบ

ADVERTISMENT

ก่อนจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยอาศัยช่วงที่วงการค้าปลีกกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 ในปี 2564-2565 รุกเข้าชิงพื้นที่ในห้าง-ศูนย์การค้าในจังหวะที่ค่าเช่ายังคงต่ำต่อเนื่องมาจากช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งวันนี้แบรนด์นี้ไม่เพียงแค่มีร้านค้าในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ แต่ยังเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ด้วยคุณภาพที่โดดเด่นและราคาที่จับต้องได้ ที่สำคัญแบรนด์สามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้า

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจคือการไม่ยอมแพ้ มองหาจังหวะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และหาจุดแข็งที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง การฟังลูกค้าและการพัฒนาสินค้าตามความต้องการของตลาดจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน” นายทนงค์ศักดิ์กล่าว