ฮิตาชิ คาดแอร์จีนทะลักไทย หันโหมตลาดแอร์เชิงพาณิชย์

ฮิตาชิ เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์
วัฒกานต์ ชัยวีระพัฒนา

ฮิตาชิ เผยสาเหตุ ทำไมปี ’68 เครื่องปรับอากาศจีนทะลักเข้าไทย จนเกิดสงครามราคาเดือด พร้อมหนทางรับมือ หันขยายตลาดเครื่องปรับอากาศพาณิชย์ หรือ HVAC ชูโซลูชั่นประหยัดพลังงาน-บริการหลังการขาย ชิงลูกค้าโรงพยาบาล หน่วยงานรัฐ ฯลฯ 

ตลาดเครื่องปรับอากาศ เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ในปี 2568 นี้ ต้องเผชิญกับการทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีน ที่อาศัยราคาเป็นจุดขายหลัก ส่งผลให้สงครามราคาปะทุดุเดือด 

“กวน ยู” รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไปสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก และสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ ฉายภาพว่า ในปี 2568 นี้ ตลาดเครื่องปรับอากาศในไทยมีแนวโน้มแข่งขันราคาดุเดือดเป็นพิเศษ ทั้งด้วยแรงกดดันจากสภาพอากาศที่ร้อนช้า และสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดประเทศไทย 

ทำไมเครื่องปรับอากาศจีน ทะลักเข้าไทย?

ผู้บริหาร ฮิตาชิ อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ปี 2568 นี้ เครื่องปรับอากาศจากจีนจะทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น เนื่องจาก ตลาดเครื่องปรับอากาศในจีนมีแนวโน้มหดตัว หลังเมื่อปี 2567 รัฐบาลจีนมีนโยบายกระตุ้นตลาดเครื่องปรับอากาศ ด้วยการให้ส่วนลด 20% สำหรับการเปลี่ยนเครื่องใหม่ 

ส่งผลให้ปีที่แล้วชาวจีนจำนวนมากตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน จนตลาดเติบโตถึง 11% แต่ขณะเดียวกันทำให้ดีมานด์ในปี 2568 ลดลงตามไปด้วย 

“ช่วงที่ผ่านมามีเครื่องปรับอากาศจากจีนเข้ามาทดลองขายในไทยเยอะขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ราคาเป็นหัวหอก เนื่องจากผลิตในโรงงานจีนทำให้มีต้นทุนต่ำกว่า”

ADVERTISMENT

เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ ทางออกวิกฤติสงครามราคา

“กวน ยู” กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ตลาดเครื่องปรับอากาศครัวเรือนเกิดสงครามราคานั้น ตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ (Heating Ventilation and Air Conditioning – HVAC) หรือเครื่องปรับอากาศสำหรับใช้ในอาคารสำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล ฯลฯ นั้นเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากหลายปัจจัย

โดยปัจจัยที่หนุนตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์นั้น อาทิ การขยายตัวของเขตเมืองทำให้มีอาคารสำนักงาน ร้านค้า ฯลฯ เพิ่มขึ้น, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างมีดีมานด์ทั้งด้านการทำความเย็นและทำความร้อน, กระแสการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในหลายประเทศ กระตุ้นดีมานด์ระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ รวมถึงหลายประเทศเริ่มใช้มาตรฐานการประหยังพลังงานแบบใหม่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ADVERTISMENT

ทั้งนี้คาดว่า ตลาด HVAC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจาก 2.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 เป็น 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030 ด้วยอัตรา CAGR 6.9% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตรา CAGR 6.8% ของตลาด HVAC ทั่วโลก 

ส่วนในไทย ตลาด HVAC จะมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าการเติบโตเฉลี่ยของตลาดถึง 2 เท่า โดยปี 2568 ตลาด HVAC ไทย จะเติบโต 4.5% ขณะที่ตลาด HVAC อาเซียนจะเติบโต 3.6%   

ฮิตาชิ หันขยายฐาน B2B ชิงลูกค้างานโครงการ

วัฒกานต์ ชัยวีระพัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ แอร์คอนดิชั่นนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต่อไปว่า เพื่อรับมือการแข่งขันราคาในตลาดเครื่องปรับอากาศครัวเรือน ปี 2568 นี้ บริษัทจึง ตัดสินใจเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นแทน โดยเน้นทั้งไลน์อัพสินค้าที่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจทั้งรายเล็ก ไปจนถึงบิ๊กโปรเจค รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่น ด้วยสถานะของฮิตาชิที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ในจีน 

โดยจะมุ่งชิงฐานลูกค้าทั้งกลุ่มโครงการภาคเอกชน และภาครัฐ อาทิ โรงพยาบาล ในจังหวัดเศรษฐกิจอย่าง ภูเก็ต และเชียงใหม่ ด้วยยุทธศาสตร์เน้นการเสนอ Total solution ของระบบ HVAC เพื่อช่วยกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ในการออกแบบระบบปรับอากาศที่เหมาะสมในแต่ละโครงการ และเน้นการประหยัดพลังงาน

ชูจุดเด่น โซลูชั่นบริการหลังการขาย

มีไฮไลท์เป็นแพ็กเกจโซลูชั่น Hitachi VRF Service Inclusive หรือ VSI ซึ่งเป็นบริการหลังการขายครบวงจร ที่รวมบริการบำรุงรักษา ทำความสะอาด และบริการหลังการขายอื่น ๆ นาน 3 ปี รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชัน HVAC ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับดีมานด์ในไทยทั้งโครงการใหม่และการอัพเกรดอาคารเดิม

พร้อมกับไลน์อัพสินค้าที่มีจุดเด่นด้านประหยัดพลังงาน หลังเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ได้รับการรับรองประสิทธิภาพประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ระดับ 5 ดาว ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้กำหนดเป็นมาตรฐานใหม่ในปี 2024 ที่กำหนดมาตรฐานของค่าประสิทธิภาพตามฤดูกาล SEER ระดับ 5 ดาวของเครื่องปรับอากาศ VRF แบบ Inverter ไว้ที่ขั้นต่ำ SEER = 21.5 ซึ่งเครื่องปรับอากาศ Hitachi VRF สามารถทำ SEER ได้สูงถึง 22.59 (สำหรับรุ่น Set Free series, โมเดล: RAS-8.0CNBCMQ)

และยังมีโซลูชันประหยัดพลังงานสำหรับเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) ที่ใช้สารทำความเย็น R1234ze และสารทำความเย็น R1233zd ที่มีศักยภาพในการทำลายโอโซน (Ozone Depletion Potential: ODP) และศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ที่ต่ำ ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าในประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกด้วย

ทั้งนี้เชื่อว่า ยุทธศาสตร์การขยายตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์นี้จะช่วยให้ในปี 2568 รายได้ของ จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ ในประเทศไทย เติบโต 8%