
ปี 2568 นี้ 3 ยักษ์ธุรกิจอาหารของไทย “CRG-เซ็น กรุ๊ป-ไทยเบฟ” ต่างเดินหน้าสปีดธุรกิจด้วยสารพัดกลยุทธ์ ทั้งดึง-พัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมขยายสาขาไม่เพียงในไทย แต่รวมไปถึงประเทศอาเซียน และพัฒนาสินค้า-เมนูใหม่ ๆ อาทิ การต่อยอดแบรนด์ร้านอาหารสู่อาหารพร้อมปรุงในช่องทางค้าปลีก เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน และรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจ
หลังสมรภูมิร้านอาหารยังเต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ นโยบายทางการค้าโลก เช่น การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ และการแข่งขันกันดุเดือด หลังการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีนที่ยังยกทัพเข้ามาเปิดสารพัดธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านชาบู หม่าล่า ไก่ทอด สารพัดเครื่องดื่ม และอื่น ๆ
ตลาดแข่งดุ บีบเร่งปรับตัว
“ณัฐ วงศ์พานิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แม้ภาพรวมของตลาดร้านอาหารมีแนวโน้มจะเติบโต 5-7% จากมูลค่าตลาดรวมราว 572,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีความท้าทายรอบด้านที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญและหาทางรับมือทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อผู้บริโภค ต้นทุนค่าแรงพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน
โดยเฉพาะการแข่งขันกับแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ทุกสัปดาห์มีแบรนด์ใหม่เปิดตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่มาพร้อมจุดเด่นราคาจับต้องได้ง่าย จากการมีอีโคโนมีออฟสเกลในประเทศบ้านเกิด
ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป อาทิ เบื่อง่าย และชอบทดลองอาหารหรือบริการใหม่ ๆ อยู่ตลอด ทำให้ในปี 2568 บริษัทและผู้เล่นอื่น ๆ ในธุรกิจอาหารต้องปรับตัว เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน
ปิด-ชะลอแบรนด์ไม่ทำกำไร
“ณัฐ” กล่าวว่า ด้วยความท้าทายนี้ในปี 2568 บริษัทตัดสินใจทุ่มงบฯ 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนขยายสาขา 800 ล้านบาท รีโนเวตสาขา 200 ล้านบาท และอีกประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับด้านเทคโนโลยี และอื่น ๆ
โดยการขยายสาขาจะโฟกัสแบรนด์ที่มีกำไร อาทิ เคเอฟซี, มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, โอโตยะ, คัตสึยะ, ส้มตำนัว, สลัดแฟคทอรี่, ชินคันเซ็น ซูชิ และนักล่าหมูกระทะ โดยตั้งเป้าขยายเพิ่ม 120-140 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั้งหมด 1,300 สาขา
รวมถึงยังมีแผนปิดหรือชะลอการขยายของแบรนด์ที่ไม่ทำกำไรหรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เช่น BROWN CAFE ที่ทยอยปิดสาขาลงให้เหลือเพียง 2 แห่ง และแบรนด์อร่อยดี ที่ปิดตัวไปก่อนหน้า เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของบริษัท
นอกจากนี้ยังเดินหน้าเพิ่มยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ด้วยการออกเมนูใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังปี 2567 ออกเมนูใหม่กว่า 500 เมนู เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ายุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2568 ตั้งเป้ายอดขายสาขาเดิมเติบโต 4-5%
ดึง-ปั้นแบรนด์ใหม่ขยายพอร์ต JV
“ณัฐ” กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับกลุ่ม JV Partner โดยในปี 2568 ตั้งเป้าขยายสาขาในกลุ่มนี้เพิ่ม 25 สาขา รวมถึงมองหาแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมพอร์ตอีก 2-3 แบรนด์ โดยจะเน้นเซ็กเมนต์ที่บริษัทยังไม่มีในมือ เช่น ชาบู และปิ้งย่าง เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่และมีโอกาสเติบโตอีกมาก
โดยกำลังพิจารณาทั้งโมเดลร่วมทุน (Joint Venture) กับแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีความนิยมสูง-สามารถขยายสาขาได้เร็ว และพัฒนาแบรนด์เองบางส่วน เช่น โอโตยะ ที่มีแผนทำแบรนด์ชาบูเป็นของตัวเอง โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ JV ให้มากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ของรายได้รวม
พร้อมกันนี้จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการเพื่อลดภาระงานหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็น Self-ordering Kiosk, Service Robot ฯลฯ
“จากแผนการดำเนินงานนี้ มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ 17,900 ล้านบาท หรือเติบโต 13% จากปีก่อนหน้ามีรายได้ 15,800 ล้านบาท เติบโต 9% อย่างแน่นอน”
ทุ่ม 100 ล้าน ผุด 8 สาขาใหม่
เช่นเดียวกับ “สรรคนนท์ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเซ็น กรุ๊ป ที่ยอมรับว่า แม้ปัจจุบันการแข่งขันจะรุนแรง แต่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของทั้ง 10 แบรนด์ในเครือว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้
โดยในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% หรือมีรายได้รวมแตะ 4,500 ล้านบาท จากปีก่อนหน้ามีรายได้ 4,000 ล้านบาท ผ่านการขยายใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจแมนูแฟกเจอริ่ง
ซึ่งในส่วนของการขยายธุรกิจร้านอาหาร วางแผนขยายสาขาในประเทศไทย 8 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั้งหมด 317 สาขา พร้อมปรับปรุงและรีโนเวตร้านสาขาเดิมอีก 10 สาขา โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท
ปูพรมแฟรนไชส์เจาะอาเซียน
“สรรคนนท์” กล่าวต่อไปว่า ในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์มีแผนขยายสาขาแฟรนไชส์ทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 24 สาขา แบ่งเป็นไทย 12 สาขา ต่างประเทศ 12 สาขา โดยเน้นขยายไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก
ซึ่งปี 2568 จะเปิดร้านเขียง ที่ลาวเพิ่มอีก 1 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 4 สาขา และมาเลเซียเพิ่มอีก 1 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 3 สาขา และฟิลิปปินส์ 1 สาขา ซึ่งนับเป็นสาขาแรกในฟิลิปปินส์ รวมถึงจะเปิดสาขา On The Table และลาวญวน ที่ประเทศลาว แบรนด์ละ 1 สาขา ในไตรมาส 2 อีกด้วย นอกจากนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเปิดสาขาแรกของแบรนด์เซ็น ในเวียงจันทน์เช่นเดียวกัน
ส่งอาหารพร้อมปรุงลุยค้าปลีก
“สรรคนนท์” กล่าวว่า ส่วนธุรกิจแมนูแฟกเจอริ่ง ที่เป็นการลงทุนในบริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ และบริษัท คิงมารีน ฟู้ดส์ จํากัด ในปีนี้จะเน้นพัฒนาสินค้าใหม่ที่ต่อยอดจากแบรนด์ร้านอาหารในพอร์ต เน้นแบรนด์อาหารไทย เช่น ลาวญวน เขียง และตำมั่ว เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกและเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ พร้อมขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อปั้นธุรกิจนี้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันรายได้
โดยตั้งแต่เดือนเมษายน จะส่งสินค้าจากแต่ละแบรนด์ออกสู่ตลาดแบบรายเดือน หลังเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่งน้ำปลาร้าแบรนด์ตำมั่ว เข้าไปขายคู่กับชุดผักส้มตำพร้อมปรุงในแม็คโคร และโลตัส ทุกสาขา
ในส่วนของคิงมารีน ซึ่งโรงงานแห่งใหม่เพิ่งแล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการผลิตและจัดพอชั่นวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร โรงแรม และสายการบิน รวมถึงในอนาคตมีแผนผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศด้วย
“ด้วยแผนการขยายธุรกิจที่ชัดเจนและหลากหลาย ทั้งในส่วนของร้านอาหาร แฟรนไชส์ และสินค้าพร้อมทาน ทำให้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ได้”
มั่นใจเศรษฐกิจไทยแกร่ง
ด้าน “ไพศาล อ่าวสถาพร” ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) ภายใต้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันการทำธุรกิจร้านอาหารจะมีความท้าทายรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การแข่งขัน รวมถึงนโยบายทางการค้าโลก เช่น การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ แต่บริษัทยังเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจที่จะสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้
โดยในปี 2568 บริษัทจะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 4 เสาหลัก ประกอบด้วย 1.การขยายสาขาในพื้นที่ใหม่ ๆ และพัฒนาเมนูใหม่ 2.จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย 3.การพัฒนาศักยภาพพนักงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน 4. การลดปริมาณขยะอาหาร
ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 (1 ต.ค. 67-30 ก.ย. 68) ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 888 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั้งหมด 847 สาขา แบ่งเป็น QSA 500 สาขา, โออิชิ 284 สาขา และ FOA 63 สาขา ด้วยงบฯลงทุนรวมกว่า 1,000 ล้านบาท
เพิ่ม 2-3 แบรนด์ใหม่เสริมพอร์ต
ด้านการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ และการจัดกิจกรรมทางการตลาด ในแต่ละแบรนด์จะพัฒนาเมนูออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างแบรนด์ในกลุ่มโออิชิ ปีนี้จะอัดแคมเปญปลุกตลาดให้คึกคักมากยิ่งขึ้น หรือเคเอฟซี ซึ่งเมื่อช่วงต้นปี ลอนช์เมนู “ข้าวมันไก่” ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโออีก 2-3 แบรนด์ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายใต้บริษัท FOA โดยจะเน้นเซ็กเมนต์ Mass Market ที่สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงลูกค้าให้ง่ายขึ้น
โดยในปีงบประมาณ 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตระดับเลขสองหลัก สำหรับทุกบริษัทในกลุ่มอาหาร ตามแผน Vision 2030 จากปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. 66-30 ก.ย. 67) ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้รวมอยู่ที่ 22,288 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ของกลุ่มโออิชิ 50%, กลุ่ม QSA 40% และกลุ่ม FOA 10%
ทั้งนี้ แม้การแข่งขันในวงการร้านอาหารจะรุนแรงและมีความท้าทายเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์นี้สะท้อนว่าตลาดยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก และคาดว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง