
ฮิตาชิ โหมตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ ชูยุทธศาสตร์ Duo Brand ฮิตาชิ-ยอร์ค ชิงงานโครงการทั้งรัฐ-เอกชน ย้ำจุดเด่นประหยัดไฟ-โซลูชั่นหลังการขายครบวงจร พร้อมทุ่มงบฯ-กำลังคนหนุนงานขาย-ดีลเลอร์ แย้มเล็งตั้งฐานผลิตในไทยรับดีมานด์อาเซียน มั่นใจผลักดันรายได้ปี’68 โต 8%
นายกวน ยู รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไปสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก และสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ ฮิตาชิและยอร์ค ฉายภาพว่า ในปี 2568 นี้ ตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับครัวเรือนในไทยมีแนวโน้มแข่งขันราคาดุเดือดเป็นพิเศษ เนื่องจากคลื่นสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดประเทศไทย หลังตลาดเครื่องปรับอากาศในจีนมีแนวโน้มชะลอตัว จากการกระตุ้นตลาดอย่างหนักของรัฐบาลจีนเมื่อปี 2567 ทำให้ปี 2568 ดีมานด์ลดลงแทน
อย่างไรก็ตาม ด้านตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ (Heating Ventilation and Air Conditioning-HVAC) นั้น เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงทั้งในไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการขยายตัวของเขตเมืองทำให้มีอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล, ร้านค้า ฯลฯ เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในหลายประเทศ กระตุ้นดีมานด์ระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ รวมถึงหลายประเทศเริ่มใช้มาตรฐานประหยัดพลังงานแบบใหม่ กระตุ้นให้ภาคธุรกิจ-หน่วยงานรัฐเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาด HVAC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจาก 2.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 เป็น 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030 ด้วยอัตรา CAGR 6.9% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตรา CAGR 6.8% ของตลาด HVAC ทั่วโลก
ส่วนปี 2568 ตลาด HVAC ไทยจะเติบโต 4.5% ขณะที่ตลาด HVAC อาเซียนจะเติบโต 3.6%
ชู Duo Brand ชิงลูกค้ารัฐ-เอกชน
ด้านนายวัฒกานต์ ชัยวีระพัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ แอร์คอนดิชั่นนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต่อไปว่า เพื่อรับมือการแข่งขันราคาในตลาดเครื่องปรับอากาศครัวเรือน ปี 2568 นี้ บริษัทจึงตัดสินใจเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นแทน ด้วยกลยุทธ์ “ดูโอแบรนด์” (Duo Brand) ซึ่งเป็นการใช้แบรนด์ฮิตาชิ (Hitachi) และยอร์ค (York) ร่วมกันเพื่อให้สามารถชิงงานโครงการทั้งรัฐและเอกชน โฟกัสในจังหวัดเศรษฐกิจอย่างภูเก็ต และเชียงใหม่ ตั้งแต่โรงพยาบาลไปจนถึงร้านกาแฟ
ตามกลยุทธ์นี้ แบรนด์ฮิตาชิซึ่งมีฐานผลิตในจีนและมาเลเซีย จะเน้นงานโครงการภาคเอกชน ส่วนแบรนด์ยอร์ค จะเน้นงานโครงการภาครัฐ เนื่องจากมีฐานการผลิตในไทย จึงเข้าเงื่อนไขของหน่วยงานรัฐ
โดยนอกจากฐานการผลิตแล้ว จะชูจุดเด่นด้านความยืดหยุ่นในการออกแบบระบบตามรูปแบบโครงการ และการประหยัดพลังงาน เช่น เครื่องปรับอากาศแบบ VRF รุ่นปี 2568 ที่ได้ฉลากเบอร์ 5 ระดับ 5 ดาว และประหยัดพื้นที่วางคอลย์ร้อน ซึ่งช่วยให้สามารถชิงปิดดีลกับเชนร้านกาแฟรายใหญ่ได้ ควบคู่กับบริการหลังการขาย Hitachi VRF Service Inclusive หรือ VSI ซึ่งเป็นบริการหลังการขายครบวงจร ที่รวมบริการบำรุงรักษา ทำความสะอาด และบริการหลังการขายอื่น ๆ นาน 3 ปี รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น HVAC ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับดีมานด์ในไทยทั้งโครงการใหม่และการอัพเกรดอาคารเดิม
พร้อมกันนี้จะจัดสรรงบฯสำหรับการทำตลาดเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 20% พร้อมปรับบุคลากรมาซัพพอร์ตการงานขายเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่นเดียวกับการสนับสนุนดีลเลอร์ในการทำตลาด-ขายเชิงพาณิชย์ รวมถึงเพิ่มการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น เน้นสร้างความเชื่อมั่นด้วยสถานะของฮิตาชิที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ในจีน
เล็งตั้งฐานผลิตในไทย
นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาโอกาสขยายฐานผลิตเครื่องปรับอากาศ HVAC แบรนด์ฮิตาชิ เข้ามาในประเทศไทย เพิ่มจากปัจุบันที่มีเพียงโรงงานชิ้นส่วนที่จังหวัดชลบุรี พร้อมกับการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา และการขายสินค้าในไทยด้วย เพื่อรองรับดีมานด์ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน หลังคู่แข่งทั้งจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ต่างทยอยมาตั้งฐานผลิตในไทย
ทั้งนี้ เชื่อว่ายุทธศาสตร์การขยายตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์นี้ จะช่วยให้ในปี 2568 รายได้ของ จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ ในประเทศไทย เติบโต 8% และเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่วนของงานโครงการจาก 40% ขึ้นเป็น 45-50%