รู้จักผู้ผลิต Nescafe 34 ปี ธุรกิจร่วมทุน ‘เนสท์เล่-มหากิจศิริ’

ทำความรู้จักบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ผู้ผลิตสินค้า ‘Nescafe’ ธุรกิจร่วมทุนของตระกูลดังและเจ้าตลาดเครื่องดื่ม

กระแสความกังวลของสินค้ากาแฟจะขาดตลาดนั้นมาจากเจ้าตลาดเครื่องดื่มอย่าง ‘เนสท์เล่’ หรือบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กับตระกูลมหากิจศิริ ที่ไม่สามารถหาข้อตกลงในการดำเนินงานบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ “บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP)” เพื่อผลิตสินค้ากาแฟตัวท็อปในตลาดอย่าง “เนสกาแฟ” ได้

หลังจากการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีของนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ทำให้ตอนนี้ บริษัท เนสท์เล่ ไม่สามารถผลิต ว่าจ้าง ผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafe ในประเทศไทยได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา เนสท์เล่ ยื่นคัดค้านคำสั่งศาลที่ศาลแพ่งมีนบุรี และศาลจะนัดไต่สวนต่อไป และจะแจ้งให้ทราบรายละเอียดเป็นระยะ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการร่วมทุนทำธุรกิจติดลมบนตลาดมายาวนานกว่า 34 ปี แต่หากไร้ข้อตกลงเพื่อเดินหน้าต่อของธุรกิจก็อาจปิดตำนานสินค้ากาแฟชื่อดังของไทยลงได้

ประชาชาติธุรกิจ พาไป รู้จัก “ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส” บริษัทร่วมค้าผู้ผลิต “เนสกาแฟ”

เริ่มต้นจากปัญหา ‘กาแฟล้นตลาด’

สำหรับกาแฟชื่อคุ้นหูในประเทศไทยอย่าง “เนสกาแฟ” มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2472 เมื่อเมื่อ Louis Dapples ประธานคณะกรรมการบริหารของ Nestlé ได้รับคำขอพิเศษจากประเทศบราซิล ให้หาวิธีรับมือกับกาแฟจำนวนมหาศาลในประเทศ โดยมีการเสนอให้คิดค้นผลิตภัณฑ์กาแฟที่สามารถชงดื่มได้รวดเร็ว

ADVERTISMENT

Morgenthaler นักเคมีมีแนวคิดที่จะผลิตผงกาแฟ เขาค้นพบว่า รสชาติของกาแฟจะคงอยู่ได้ดีที่สุดเมื่อเติมคาร์โบไฮเดรตลงในผลิตภัณฑ์ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกับเมล็ดกาแฟมากกว่า หลังจากการวิจัยพัฒนาอย่างพิถีพิถันเป็นเวลา 7 ปี กาแฟผงสำเร็จรูปนี้ก็ได้เปิดตัวในสวิตเซอร์แลนด์ภายใต้ชื่อแบรนด์ NESCAFÉ® ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ได้รับความนิยมในทันที โดยขายหมดภายในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น

หลังจากนั้นเพียง 11 ปี เนสกาแฟมีจำหน่ายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และมากกว่า 150 ประเทศในปัจจุบัน รวมถีงประเทศไทยที่มีการร่วมทุนของเนสท์เล่กับ “ประยุทธ์ มหากิจศิริ” นักธุรกิจชาวไทย ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท พีเอ็มส์ กรุ๊ปส์, บริษัท ไทยน็อคซ์ สเตนเลส และไทย คอปเปอร์ ที่มีความสนใจธุรกิจด้านกาแฟ

ADVERTISMENT

เขาจึงก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ขึ้นมาและจดทะเบียนธุรกิจเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 กลายมาเป็นบริษัทผลิตกาแฟส่งให้กับเนสท์เล่ในนามผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ซึ่งจากความสำเร็จของยอดขาย และรสชาติที่ครองใจคนไทย ทำให้ประยุทธได้รับฉายาว่า “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” ในเวลาต่อมา

หลังจากร่วมทุนกันหลายสิบปี ประยุทธได้ส่งไม้ต่อคุมบังเหียนบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ให้กับลูกชาย “กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ที่มีดีกรีด้านธุรกิจไม่แพ้พ่อ เจ้าของค่ายเพลง 411 Music ที่ปลุกปั้นนักร้องเสียงใส “แอลลี่-อชิรญา นิติพน” ขึ้นแท่นลูกรักแห่งชาติของชาวไทยได้สำเร็จ

มหากิจศิริ 50 – 50 เนสท์เล่

ปัจจุบันบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ประกอบธุรกิจประเภทผลิต อุตสาหกรรม กาแฟสำเร็จรูป โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 500,000,000 บาท และมีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ดังนี้

1. เฉลิมชัย มหากิจศิริ (ไทย) ถือหุ้น 41.80% จำนวน 20,900,000 หุ้น มูลค่า 1,570 ล้านบาท

2. เนสท์เล่ เอส.เอ (สวิตเซอร์แลนด์) ถือหุ้น 30% จำนวน 15,000,000 หุ้น มูลค่า 1,127 ล้านบาท

3. วิโทรปา เอส.เอ (สวิตเซอร์แลนด์) ถือหุ้น 19% จำนวน 9,500,000 หุ้น มูลค่า 714 ล้านบาท

4. สุวิมล มหากิจศิริ (ไทย) ถือหุ้น 5% จำนวน 2,500,000 หุ้น มูลค่า 187 ล้านบาท

5. ประยุทธ มหากิจศิริ (ไทย) ถือหุ้น 3.20% จำนวน 1,600,000 หุ้น มูลค่า 120 ล้านบาท

6. บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง ประเทศไทย จำกัด (ไทย) ถือหุ้น 1% จำนวน 500,000 หุ้น มูลค่า 37 ล้านบาท

ผลประกอบการย้อนหลัง

– ปี 2557 รายได้รวม 17,751,068,458 บาท กำไรสุทธิ 3,361,305,644 บาท

– ปี 2558 รายได้รวม 16,450,866,625 บาท กำไรสุทธิ 2,653,729,596 บาท

– ปี 2559 รายได้รวม 14,822,316,077 บาท กำไรสุทธิ 2,932,426,036 บาท

– ปี 2560 รายได้รวม 15,478,981,283 บาท กำไรสุทธิ 2,780,437,022 บาท

– ปี 2561 รายได้รวม 15,498,634,839 บาท กำไรสุทธิ 2,613,227,647 บาท

– ปี 2562 รายได้รวม 15,177,522,579 บาท กำไรสุทธิ 3,389,320,984 บาท

– ปี 2563 รายได้รวม 15,772,707,161 บาท กำไรสุทธิ 3,683,329,299 บาท

– ปี 2564 รายได้รวม 15,459,985,265 บาท กำไรสุทธิ 3,704,923,224 บาท

– ปี 2565 รายได้รวม 17,115,353,376 บาท กำไรสุทธิ 3,403,207,473 บาท

– ปี 2566 รายได้รวม 17,183,968,165 บาท กำไรสุทธิ 3,067,997,614 บาท

จากผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557-2566 พบว่า บริษัท QCR มีรายได้รวมแต่ละปีค่อนข้างทรงตัวยืนพื้นที่รายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ก่อนจะสังเกตได้ว่าสองปีล่าสุดมีรายได้สูงแตะ 17,000 ล้านบาท ขณะที่กำไรมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยคงกำไรที่หลักพันล้านมาโดยตลอด และมีปี 2564 ที่สูงที่สุดและเกือบแตะ 4,000 ล้านบาทได้

ข้อมูลจาก Creden Data และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า