ZEN รุกนอกห้างบุกปั๊ม-ขายแฟรนไชส์

“ZEN” ทลายข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ หันขยายร้านอาหารนอกห้างยันปั๊มน้ำมัน ดึงลูกค้าซื้อแฟรนไชส์ ผนึก SCB ปล่อยเงินกู้ 100% “แฟรนไชส์เงินผ่อน” พร้อมรุกขยายสาขา ตั้งเป้า 500 แห่ง ภายใน 5 ปี คาดดันรายได้ทะลุหมื่นล้านในปี”65 พร้อมลุยต่อขายแฟรนไชส์บุกจีน-อินเดีย เตรียมซื้อแบรนด์อาหารไทย “ร้านในตำนาน” ทำตลาดเพิ่ม

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทยรวม 13 แบรนด์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการขยายร้านที่ ZEN ยังผูกติดกับห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด และไฮเปอร์มาร์เก็ตถึงเกือบ 80% ของสาขาทั้งหมด อาจทำให้การขยายสาขาไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ว่าจะต้องขยายสาขาเพิ่มเป็น 500 แห่ง ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมีสาขารวม 100 กว่าแห่ง

ล่าสุด ZEN จึงต้องเปลี่ยนวิธีการขยายสาขาใหม่ ด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ 3 แบบ คือ 1) สแตนด์อะโลน (stand alone) เพื่อเข้าไปใกล้ชิดชุมชนให้มากขึ้น 2) สถานีบริการน้ำมัน เพื่อรองรับความต้องการลูกค้าที่ต้องเดินทาง ซึ่งได้เริ่มทดลองแล้ว 3 แห่ง ในปั๊มน้ำมันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หากได้รับผลตอบรับที่ดี น่าจะมีโอกาสเจรจาขอขยายแบบแพ็กใหญ่กับ ปตท.ต่อไป และอาจขยายไปยังสถานีบริการน้ำมันรายอื่น ๆ ด้วย และ 3) ฟู้ดคอร์ต โดยทั้ง 3 รูปแบบจะใช้ร้านอาหารแบรนด์ไทยเป็นหลักคือตำมั่ว โดยใช้เงินลงทุน 5-6 ล้านบาท ขณะที่ร้านเฝอและลาวญวนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 แสนบาท ซึ่งขนาดของร้านจะเล็กลงเพื่อความคล่องตัวในการลงทุน หากร้านอยู่ในโลเกชั่นที่ดีจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 3-5 ปี

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ได้รับความสะดวกมากขึ้น บริษัทได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ทำระบบแฟรนไชส์เงินผ่อน โดยที่ไทยพาณิชย์จะปล่อยเงินกู้แบบเต็มจำนวน 100% โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ด้วยการขยายธุรกิจด้วยรูปแบบแฟรนไชส์และแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อรุกเข้าไปในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากศูนย์การค้า จะทำให้ ZEN สามารถเปิดสาขาใหม่ได้เฉลี่ยถึง 5-10 แห่ง/เดือน จากเดิมที่ทำได้เพียง 3 แห่ง/เดือน ขณะนี้ได้เริ่มทดลองรูปแบบดังกล่าวไปแล้ว 6 เดือน ได้รับผลตอบรับที่ดี และคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาซื้อแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าเป้าหมายรายได้ที่วางไว้ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 อาจทะลุเป้า ขณะที่รายได้ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท

นายบุญยงกล่าวเพิ่มเติมถึงการขยายสาขาร้านอาหารในต่างประเทศว่า ZEN จะใช้แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านไทยเข้าไปทำตลาด และได้เริ่มทดลองนำร้านอาหารญี่ปุ่น เช่น ร้านออน เดอะ เทเบิล (On the Table) และร้านอากะ (AKA) ไปเปิดให้บริการในประเทศเมียนมาและกัมพูชา โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญที่เปิดให้บริการ 1 สาขาไปแล้ว และภายในเดือนสิงหาคมนี้จะเปิดร้านอากะในเมืองเสียมเรียบเพิ่มเติม โดยเป้าหมายของเซ็นจะขยายสาขาในประเทศเพื่อนบ้านได้ประมาณ 10 แห่งภายในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งใน 5 ปีข้างหน้า รวมถึงยังมองโอกาสที่จะขยายไปยังตลาดใหญ่อย่างในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างคัดเลือกและซื้อแบรนด์อาหารไทยที่เป็นร้านในตำนานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาขยายและทำการตลาดเพิ่มเติมด้วย

“แผนการดำเนินการทั้งหมดอยู่ในแผนการพัฒนารูปแบบธุรกิจในเฟสแรกของ ZEN ที่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตจากสิ่งที่มีอยู่ในมือก่อนคือร้านอาหารทั้ง 13 แบรนด์ และการซื้อแบรนด์ร้านอาหาร เพื่อนำมาผสมผสานกับจุดแข็งของ ZEN ที่มีคือระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันแบรนด์ที่ทำรายได้ให้มากที่สุดคือ ZEN เรสเตอรองต์ ตามด้วยร้านอากะ และร้านออน เดอะ เทเบิล จากนี้ไปจะมุ่งเน้นพัฒนาร้านอาหารแบรนด์ไทยไปขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมกับยกระดับธุรกิจร้านอาหารไทยของเซ็นให้อยู่ในระดับเวิลด์คลาส” นายบุญยงกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ร้านอาหารทั้ง 13 แบรนด์ของเซ็น ประกอบด้วย ร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ คือ ร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN (ZEN Restaurant), ร้านมุฉะ (MUSHA), ร้านอากะ (AKA), ร้านออน เดอะ เทเบิ้ล (On the Table), ร้านเท็ตสึ (Tetsu) และร้านซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ (Sushi Cyu & Carnival Yakiniku) ส่วนร้านอาหารไทย 7 แบรนด์ คือ ร้านตำมั่ว, ร้านลาวญวน, ร้านเฝอ, ร้านแจ่วฮ้อน, ร้านข้าวมันไก่คุณย่า, ร้านครัวไทย และร้านเดอตำมั่ว