
คอลัมน์ : จับกระแสตลาด
ธุรกิจค้าขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง อย่างกระเป๋า นาฬิกา เครื่องประดับ ฯลฯ ในไทย มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท กำลังฉายแววคึกคักสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจอื่น ๆ หลังมี 3 ปัจจัยสำคัญมาหนุนการเติบโตและสร้างโอกาสธุรกิจคือ กระแสความต้องการยกระดับภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ การถดถอยตลาดแบรนด์เนมมือสองในญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าตลาดเดิม และการเก็งกำไร ซึ่งทั้งผลักดันดีมานด์ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองโดยเฉพาะในประเทศไทย
ในเรื่องการยกระดับภาพลักษณ์ตนเองของคนรุ่นใหม่นั้น “ธานี สามสีเจริญลาภ” ซีเอฟโอฝ่ายการเงินและบัญชีของแบคนิฟิค แบรนด์เนม หนึ่งในเชนร้านสินค้าแบรนด์เนมมือสองรายใหญ่ของไทย ซึ่งมีสาขา 5 แห่ง ฉายภาพว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา สินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทยมีมูลค่าการซื้อขายรวมประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยประเมินจากการซื้อขายผ่านร้านค้ามือสอง ซึ่งคิดเป็น 10-20% ของตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือหนึ่งที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท รวมถึงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
โดยหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้มูลค่าตลาดซื้อขายแบรนด์เนมมือสองเติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 มาจากดีมานด์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ด้วยการครอบครอง-ใช้สินค้าลักเซอรี่ แต่ก็ต้องได้มาในราคาที่จับต้องได้ ทำให้แบรนด์เนมมือสองกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะราคาต่ำกว่าสินค้ามือหนึ่งถึง 30-70%
ในขณะที่ญี่ปุ่น เจ้าตลาดและแหล่งสินค้าแบรนด์เนมมือสองเดิมเกิดภาวะถดถอย กระทบเป็นลูกโซ่มายังตลาดมือสองในไทยและอาเซียน โดย “ธารารัตน์ อนุรัตน์บดี” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งแบคนิฟิค แบรนด์เนม อธิบายว่า เดิมญี่ปุ่นเป็นตลาดแบรนด์เนมมือสองระดับท็อป 3 ของโลกร่วมกับสหรัฐอเมริกาและจีน แต่สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัว และการอ่อนค่าของเงินเยนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวญี่ปุ่นชะลอการซื้อสินค้าแบรนด์เนมลง จนไม่มีสินค้าใหม่เข้ามาเติมในตลาดมือสอง ทั้งในญี่ปุ่นเองและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรับสินค้ามือสองต่อจากญี่ปุ่นมาวางจำหน่าย
สอดคล้องกับความเห็นของ “ปพน มนัสภากร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัท แบรนด์เนม มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและขายฝากสินค้าแบรนด์เนม ที่ระบุว่า จากข้อมูลของ RTG Group Asia บริษัทผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจนั้น เมื่อปี 2567 มูลค่าตลาดสินค้าแบรนด์เนมของไทยแซงหน้าสิงคโปร์แล้ว ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4,640 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคาดว่าในปี 2567-2571 จะขยายตัวได้ 5.62% ขณะที่สิงคโปร์มีมูลค่าตลาด 4,060 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 3.49% ทำให้ไทยขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งด้านมูลค่าตลาดสินค้าแบรนด์เนมในอาเซียน
ด้าน “ธารารัตน์” กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์นี้ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจซึ่งแบคนิฟิค แบรนด์เนม เตรียมขยายธุรกิจจากการรับซื้อขายไปเป็นซัพพลายเออร์สินค้าแบรนด์เนมมือสอง ให้กับผู้ประกอบการทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการต่อยอดโนว์ฮาว เช่น กระบวนการตรวจพิสูจน์สินค้า และสต๊อกสินค้าจำนวนกว่า 10,000 รายการ ตามเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นผู้เล่นเบอร์ 1 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
นอกจากปัจจัยใหม่ ๆ อย่างกระแสอัพภาพลักษณ์และการถดถอยของญี่ปุ่นแล้ว ปัจจัยดั้งเดิมอย่างการเก็งกำไร ยังเป็นแรงหนุนสำคัญของตลาด “ปพน” กล่าวว่า ในสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวหรือฝืดเคือง การซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองจะยิ่งคึกคัก
เนื่องจากทั้งสถานะการเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน และการมีสภาพคล่องสูงหรือสามารถกลับเป็นเงินสดได้ง่ายกว่าทรัพย์สินประเภทอื่น
“คนไทยรุ่นใหม่นิยมใช้สินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น โดยต้องการซื้อเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง มีคุณค่าทางจิตใจ และยังเป็นการสร้าง Image ภาพลักษณ์ที่แสดงถึงความมีรสนิยม ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ทั้งกระเป๋า นาฬิกา รวมทั้งจิวเวลรี่”
ด้วยเหตุนี้ แบรนด์เนม มันนี่ จึงเข้าสู่วงการสินค้าแบรนด์เนมมือสอง ด้วยโมเดลธุรกิจ 3 รูปแบบคือ สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งสามารถผ่อนไปใช้ไป สำหรับซื้อสินค้ามือหนึ่งและมือสอง ตอบโจทย์ผู้ที่มีรายได้ประจำ แต่อาจไม่มีเงินก้อนเพียงพอ และสินเชื่อแบบรับสินค้าเมื่อผ่อนครบ มุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการมีภาระผูกพันทางการเงินระยะยาว และไม่ต้องการยุ่งยากในการตรวจเช็กเครดิต สุดท้ายคือ บริการขายฝาก ซึ่งรับขายฝากนาฬิกา กระเป๋า และจิวเวลรี่แบรนด์เนม คล้ายการจำนำ
ทั้งหมดนี้คือ ปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทยคึกคักและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จนหลายแบรนด์ออกมาเคลื่อนไหวขยายธุรกิจชิงสร้างการเติบโต