อาหาร-เครื่องดื่ม โตพุ่ง…มัดใจอาเซียน

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ในภาคการส่งออกที่เป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ อาหารŽ เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าสำคัญ ซึ่งปีนี้คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มจะมีมูลค่ารวมกันกว่า 9 แสนล้านบาท เติบโตราว 8% จากปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เป็นหลัก

”รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์”Ž ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดงานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย 2017 ฉายภาพว่า การส่งสินค้าอาหารไทยไปซีแอลเอ็มวีค่อนข้างมาแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดในปี 2559 การส่งออกสินค้าอาหารไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน มีสัดส่วนกว่า 15.2% แซงหน้าญี่ปุ่นที่ส่งออกสินค้าไปกว่า 13.9% แล้ว ซึ่งปัจจัยของการขยายตัวนี้มาจากความร่วมมือในเออีซี ความสะดวกในการเดินทางขนส่งสินค้าถึงกัน คุณภาพสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งการมีมาตรฐานอาหารที่ไม่ต่างกันทำให้การนำสินค้าไปจำหน่ายไม่มีข้อจำกัดมากนัก

โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมจะแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศ อย่างเมียนมาจะนิยมบริโภคเวเฟอร์อบกรอบไทย ส่วนในลาว กัมพูชา เวียดนาม จะให้การตอบรับที่ดีกับกลุ่มเครื่องดื่มผลไม้ รวมทั้งซอสปรุงรส เพราะยังนิยมทำอาหารรับประทานเองมากกว่าการกินข้าวนอกบ้าน

ส่วนเทรนด์ของธุรกิจอาหารในไทยต่อจากนี้ ด้วยการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารเพื่อผู้สูงวัยและเพื่อสุขภาพมากขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่ผู้บริโภคมองหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มาจากธรรมชาติ ปลอดสารเคมีมากขึ้น ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากธรรมชาติ ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ฯลฯ

ดังนั้น เพื่อรับกับการขยายตัวของธุรกิจอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศ ยูเอ็มบี จึงได้จัดงานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย ครั้งที่ 22 หรือเอฟไอ เอเชีย 2017 งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับอุตสาหกรรมแห่งเอเชีย ที่ไบเทค บางนา 13-15 กันยายนนี้ ซึ่งใช้พื้นที่มากกว่าการจัดงานเมื่อ 2 ปีก่อน 25% โดยในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมแสดงงานทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายส่วนผสมอาหารกว่า 700 ราย จาก 56 ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 2 หมื่นราย

นอกจากเป็นพื้นที่ให้พบปะพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ภายในงานยังจัดโซนแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหาร เครื่องดื่มที่สอดคล้องกับเทรนด์อาหารในปัจจุบัน การจัดสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาส่วนผสมอาหารสำหรับสังคมสูงวัย ฯลฯ

ส่วนผสมอาหารมีความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหารไม่น้อย โดยเฉพาะนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น ส่วนผสมที่ช่วยปรุงรสแต่งกลิ่น สี ส่วนผสมที่ช่วยยืดอายุของอาหารให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ฯลฯ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารได้มากขึ้น ซึ่งภายในงาน ผู้ผลิตส่วนผสมอาหารในไทยยังมีไม่มากด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีบวกกับวัตถุดิบที่เริ่มมีน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาเพื่อหาพาร์ตเนอร์ในไทยมากกว่าŽ

ทั้งนี้ การจัดงานเอฟไอ เอเชีย จะสลับจัดงานในไทยและอินโดนีเซียที่ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมาก โดยในการจัดงานที่อินโดนีเซียครั้งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี มียอดเจรจาธุรกิจกว่า 140 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปีนี้จะเติบโตไม่เกิน 10% การขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร คือโอกาสการเติบโตของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ