
สัมภาษณ์
ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้แต่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เหมือนปัจจัย 4 ก็ไม่สามารถรอดพ้นจากผลกระทบไปได้ และต้องเร่งหาทางปรับตัว โดยโรงพยาบาลธนบุรีโรงพยาบาลเก่าแก่อายุ 48 ปี ย่านฝั่งธน ภายใต้การนำทัพของ หมอวิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการนั้น ได้วางยุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งรับมือผลกระทบระยะสั้นจากคนไข้ไทย-เทศที่ลดลงในปีนี้ แต่ยังวางหมากถึงระยะยาวที่จะชิงโพซิชั่นโรงพยาบาลเอกชนเบอร์ 1 แห่งฝั่งธนแบบรวดเดียวด้วย
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรี ในเครือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปหรือ THG ถึงแนวคิดการบริหาร และกลยุทธ์ในปี’68 และอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปี’68 ท้าทายทุกด้านทั้งไทย-เทศ
โดยหมอวิศิษฎ์ฉายภาพว่า สถานการณ์ในวงการธุรกิจโรงพยาบาลในปี 2568 นี้มีแต่ปัจจัยลบ ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายแม้แต่เรื่องการเจ็บป่วย โดยจะเลือกทนไปก่อนหากเจ็บเล็กน้อย และแม้จะเจ็บป่วยมากขึ้น ก็จะคิดถึงสิทธิการรักษาต่าง ๆ ที่ตนมีก่อน ไม่ตัดสินใจมารับการรักษาทันทีเหมือนแต่ก่อน
ขณะเดียวกันระบบโคเพย์ของธุรกิจประกันสุขภาพยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคต้องคิดหนักเมื่อเกิดการเจ็บป่วย และเลือกไม่เข้ารับการรักษาหากอาการเล็กน้อย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนชัดเจนจากตัวเลขจำนวนผู้ป่วยในที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าจะเกิดกับทุกโรงพยาบาลในเครือธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป
และปี 2568 นี้ ความท้าทายยังเพิ่มขึ้นอีกขั้น เนื่องจากเดิมเมื่อเศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา ธุรกิจโรงพยาบาลยังสามารถหันไปโฟกัสกับผู้ป่วยต่างชาติเพื่อบาลานซ์รายได้ แต่ขณะนี้คนไข้ชาวต่างชาติก็ยังหายไปด้วย ทั้งกัมพูชาที่มีปัญหาเศรษฐกิจ และเมียนมาที่ถูกกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว แม้แต่ตะวันออกกลางก็มีปัญหาสภาพเศรษฐกิจ เกิดกระแสการควบคุมค่าใช้จ่ายเช่นกัน
รีดต้นทุน-พร้อมลงทุนแบบคุ้มค่า
ดังนั้นสิ่งที่ รพ.ธนบุรีต้องทำในปี 2568 นี้เพื่อฝ่าสถานการณ์ความท้าทายไปให้ได้จะมี 2 ด้าน คือ การควบคุมต้นทุนให้ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังที่ผ่านมา รพ.อาจจะไม่ได้เข้มงวดกับการบริหารต้นทุนในระดับรีดให้ดีที่สุด แต่ตอนนี้ถึงเวลาต้องทำให้ดีที่สุดแล้ว
และการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นไม่ทำไม่ได้ แม้จะมีความท้าทายด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการคุ้มต้นทุนเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอรับมือความท้าทายในครั้งนี้
4 กลยุทธ์สู่ Hospital of Choice
ดังนั้นแนวทางรีดต้นทุนและการลงทุนหลังจากนี้จะอยู่ภายใต้แนวคิดการผลักดันให้ รพ.ธนบุรีเป็น “โรงพยาบาลที่ได้รับความไว้วางใจและมีคุณค่าสูงสุดในกรุงเทพฯและปริมณฑล” ทั้งจากคนไข้ บุคลากร รวมถึงชุมชนโดยรอบ เพื่อผลักดันให้ รพ.ธนบุรีเป็นแฟลกชิปของเครือ THG เพราะเชื่อว่าระบบสาธารณสุขที่คนไข้มีทางเลือกนั้นสำคัญที่สุดเพื่อความยั่งยืน
โดยแผนระยะ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ 2568-2573 นี้ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ คือ การออกแบบระบบการบริการ และผลิตภัณฑ์โดยยึดความต้องการและประสบการณ์ของผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง สร้างความพึงพอใจตั้งแต่การมาใช้บริการ เช่น ลดเวลารอตรวจ ลดความสับสนในการเดินไปรับบริการยังจุดต่าง ๆ ไปจนถึงบริหารจัดการข้อร้องเรียนข้อเสนอแนะ รวมถึงมีระบบพัฒนาบุคลากรที่จะได้คนเก่งเข้ามาทำงาน
กลยุทธ์ที่ 2 คือ การเงินที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ได้มาจากการเน้นกำไรสูงสุด โดยการลงทุนต้องเป็นแบบลงเม็ดเงินน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มากกว่าเพียงการเติบโตของรายได้และกำไร โดยต้องสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้กับ รพ.ในสายตาของทั้งคนไข้ บุคลากร และชุมชนโดยรอบด้วย เพื่อให้ รพ.เป็นตัวเลือกแรกที่คนไข้นึกถึงเมื่อเจ็บป่วย ดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ และได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้
พร้อมกำหนดราคาค่าบริการที่เหมาะสม และมองถึงระยะยาว เน้นให้คนไข้ใช้จ่ายในอัตราที่ รพ.อยู่ได้ เพราะเมื่อราคาจับต้องได้ คนไข้จะเข้าถึง รพ.มากขึ้น สังคมได้ประโยชน์มากขึ้น โรงพยาบาลจะได้ฐานคนไข้จำนวนมากขึ้น และเป็นตัวเลือกแรก ๆ ในใจคนไข้เมื่อเจ็บป่วย ผลลัพธ์จะยั่งยืน รพ.อยู่ได้ ตัวอย่างเช่น การตรวจสุขภาพ จะต้องไม่คิดราคาแพงเท่ากับคนไข้ที่มารักษาโรค
กลยุทธ์ที่ 3 คือ การปรับกระบวนการดำเนินงานในโรงพยาบาลที่ต้องไหลลื่น โดยมีคนไข้เป็นศูนย์กลาง เช่น ขั้นตอนการใช้บริการที่ไม่ต้องรอนาน หรือไปหลายจุด ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีอย่างแอปและ AI เข้ามาช่วย เช่น ระบบบริหารจัดการคนไข้
กลยุทธ์ที่ 4 คือ คุณภาพ ที่คนไข้ต้องเชื่อถือได้ในระดับโรงพยาบาล ไม่ใช่แพทย์รายคน โดยคนไข้ต้องเชื่อมั่นว่า มาพบแพทย์คนไหนก็จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุดเท่าเทียมกัน ด้วยการทำให้ รพ.ธนบุรี เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ความรู้ไม่ได้อยู่กับคน แต่อยู่กับองค์กร ควบคู่กับการมีนวัตกรรม การบูรณาการระหว่างคนกับปัญญาประดิษฐ์
โดยเมื่อช่วงต้นปี 2568 รพ.จับมือกับบริษัทสตาร์ตอัพ Agnos Health เปิดให้บริการ Smart Registration หรือระบบลงทะเบียนผู้ป่วยแบบใหม่ที่นำ AI มาใช้ อาทิ AI Nurse สำหรับซักประวัติและแนะนำแผนกที่เหมาะสมกับอาการป่วย, ระบบยืนยันตัวตน AI Face Recognition, ระบบดึงข้อมูลจากเอกสารผู้ป่วยอัตโนมัติผ่าน AI OCR, ระบบตรวจสอบสิทธิของผู้ป่วยด้วย Robotic Process Automation, ระบบ e-Consent สำหรับเก็บการยินยอม PDPA เป็นต้น
ทุ่ม 2,000 ล้านสร้างตึกหลัก
โดยโครงการลงทุนหลักหลังจากนี้จะเป็นการสร้างอาคารหลังที่ 9 ซึ่งจะเป็นอาคารหลักตั้งอยู่กลางระหว่างอาคารผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน มีหน้าที่เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการรักษาล่าสุด โดยเฉพาะด้านรังสีรักษา อาทิ เครื่องเร่งอนุภาคสำหรับรักษามะเร็ง, เครื่อง MRI, CT-Scan, ห้องผ่าตัดขนาดใหญ่พิเศษที่รองรับการผ่าตัดแบบไฮบริด เช่น การใช้หุ่นยนต์และการผ่าตัดพร้อม X-Ray คอมพิวเตอร์ไปด้วย เป็นต้น รวมไปถึงห้องผู้ป่วยขนาดใหญ่ที่รองรับอุปกรณ์รุ่นใหม่ต่าง ๆ ได้ครบครัน
อาคารหลังนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ รพ.ธนบุรี เป็นแฟลกชิปของเครือ THG ในด้านโรงพยาบาลตติยภูมิ รองรับการรักษาที่ซับซ้อนมีหลายโรคร่วม ต้องการแพทย์เฉพาะทาง 2-3 คน และทีมพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ อาทิ โรคผู้สูงอายุ, หัวใจ, NCD รวมถึงมะเร็ง
ทั้งนี้คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นอาคาร 1,000 ล้านบาท และอุปกรณ์ต่าง ๆ อีก 1,000 ล้านบาท โดยวางแผนเริ่มลงทุนในปี’70
หมอวิศิษฎ์ย้ำความเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้ รพ.ธนบุรีสามารถฝ่าความท้าทายในปี 2568 นี้ได้ และในระยะ 5 ปีจะก้าวขึ้นเป็น รพ.เอกชนเบอร์ 1 ของย่านฝั่งธนตามเป้าที่วางไว้