คอลลาบอเรชั่น ยังแรง “ฟาสต์ฟู้ด-ยา” ร่วมวงเจาะนิวเจน

คอลัมน์ Market Move

การคอลลาบอเรชั่น (collaboration) หรือความร่วมมือระหว่างแบรนด์สินค้าแฟชั่นกับเซเลบริตี้เพื่อผลิตสินค้ารุ่นพิเศษจำนวนจำกัด เช่น รองเท้าสนีกเกอร์ เสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯ ออกมาดูดเม็ดเงินจากบรรดาแฟนคลับของทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงนักสะสม ยังคงเป็นเทรนด์ฮอตฮิตของวงการธุรกิจ

ความสำเร็จของกลยุทธ์นี้ได้ดึงธุรกิจเซ็กเมนต์อื่น ๆ เข้ามาร่วมวงด้วย ซึ่งในตลาดเกาหลีใต้กลุ่มฟาสต์ฟู้ด เครื่องดื่ม และบริษัทเวชภัณฑ์ ได้จับมือกับแบรนด์แฟชั่นมีระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น และอินเตอร์ สร้างสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่นของตนออกมาบ้าง หวังสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าไปพร้อม ๆ กัน

สำนักข่าว รีเทลล์ เอเชีย รายงานว่า “เอสพีซี กรุ๊ป” (SPC Group) ผู้ถือสิทธิ์บริหารเชนร้านฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ “เชคแชค” (Shake Shack) ของสหรัฐ ยักษ์เครื่องดื่ม “โคคา-โคลา” และบริษัท “ดงฮวา ฟามาซูติคัล” (Dongwha Pharmaceutical) บริษัทผลิตและจำหน่ายยาสัญชาติเกาหลีอายุกว่า 120 ปี ต่างหันมาใช้กลยุทธ์คอลลาบอเรชั่นเพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่โดย “เอสพีซี กรุ๊ป” ได้ร่วมมือกับ “เคส สตัดดี้” แบรนด์แฟชั่นระดับพรีเมี่ยมในเครือชินเซเก เปิดตัวสินค้าแฟชั่นหลายรายการ อาทิ เสื้อยืด หมวก และกระเป๋า มีจุดเด่นที่ลายพิมพ์รูปอาหาร อย่างแฮมเบอร์เกอร์เฟรนช์ฟราย ฮอตดอก ที่ออกแบบโดยผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของเคสสตัดดี้

พร้อมด้วยเป้าหมายให้กลุ่มผู้บริโภคอายุ 20-30 ปี นำไปใส่เพื่อถ่ายรูปลงในอินสตาแกรมโดยเฉพาะทางบริษัทระบุว่า ความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถขายสินค้าจนหมดสต๊อกได้ภายในวันเปิดตัว และประกาศโครงการที่ 2 ด้วยการจับมือกับแบรนด์แฟชั่นกีฬาสัญชาติเกาหลี “บาร์เรล” (Barrel) ผลิตสินค้าแฟชั่นสำหรับช่วงฤดูร้อนอย่างผ้าขนหนูเข็มกลัด ขณะเดียวกันยังมีอาหารเมนูพิเศษ อาทิ “เซิร์ฟ แอนด์ ฟราย” สำหรับขายเฉพาะฤดูร้อนเช่นกัน

ไปในทิศทางเดียวกับ “ดงฮวาฟามาซูติคัล” ซึ่งจับมือกับ “เกสส์”แบรนด์ยีนส์ชื่อดัง เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือระหว่างธุรกิจเวชภัณฑ์และแฟชั่นนี้กลายเป็นไวรัลไปทั่วเกาหลีใต้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้สินค้าขายดีเหมือนแจกฟรี โดยเสื้อยืด กางเกงยีนส์ กระเป๋า รวมถึงพัด รวมกว่า 4,000 ชิ้น ซึ่งผลิตโดยเกสส์และมีโลโก้ของดงฮวา ฟามาซูติคัลติดอยู่ ขายหมดภายใน 3 วัน

ผู้บริหารของดงฮวา ฟามาซูติคัล อธิบายว่า สินค้าชุดนี้ออกแบบและตั้งราคามาให้ตรงใจกลุ่มมิลเลนเนียลโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นความลิมิเต็ด ราคาซื้อง่าย-ขายคล่อง เช่น เสื้อยืดราคา 28,000 วอน หรือประมาณ26 เหรียญสหรัฐ และดีไซน์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมแฝงอารมณ์ขันเอาไว้ช่วยให้รู้สึกคุ้มค่าน่าสะสม

โดยที่ผ่านมาบริษัทยาอายุกว่า 120 ปี แห่งนี้ เดินหน้าคอลลาบอเรชั่นกับแบรนด์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2556 เช่น แคแร็กเตอร์ Kakao Friends, รายการทีวี Show Me the Money เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภครุ่นใหม่

ด้าน “โคคา-โคลา” จับมือกับ “เดอะเฟซช็อป” (The Face Shop) ผลิตเครื่องสำอางรุ่นพิเศษออกขาย ทำยอดไปกว่า 300,000 ชิ้น ภายในเวลา 50 วันในเรื่องนี้นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การคอลลาบอเรชั่นข้ามเซ็กเมนต์เช่นนี้มักจะได้ผลดีเป็นพิเศษ เนื่องจากความแปลกใหม่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและกระตุ้นการแชร์ต่อ ๆ กันบนโซเชียลมีเดีย กลายเป็นโอกาสทองของแบรนด์ในการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มใหม่ ๆ รวมถึงอัพเกรดภาพลักษณ์ไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันคุณภาพสินค้าที่ผลิตออกมามักจะสูงเป็นพิเศษ เพราะทั้ง 2 แบรนด์ต่างทุ่มเต็มที่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ ทำให้ความพึงพอใจของผู้บริโภคสูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นหลังจากนี้น่าจะได้เห็นการคอลลาบอเรชั่นข้ามเซ็กเมนต์เพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงอาจมีการขยายเป็นความร่วมมือระยะยาวอีกด้วย