ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เซเว่นฯไม่ล้ำสมัย…แต่ไม่ล้าสมัย

ท่ามกลางเทคโนโลยี และสื่อดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างรุนแรง ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรม “ค้าปลีก” ที่มีสัดส่วนถึง 15% ของจีดีพีประเทศที่กำลังถูกดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruption) ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ จากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซที่กำลังเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจนี้

ปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว ส่งผลให้ค้าปลีกทุกค่ายต้องการเร่งสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตัวเอง

ขณะที่การแข่งขันของตลาดร้านสะดวกซื้อก็เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ โดยแต่ละรายต่างหากิมมิกใหม่ ๆ ออกมากระตุ้นตลาดอยู่เสมอ ทั้งการปรับโมเดลร้านให้ทันสมัย เติมสินค้าใหม่ โดยเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อเบอร์ 1 อย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีลูกค้าแต่ละวันมากกว่า 11.8 ล้านคน ก็ผุดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกด้วยคอนเซ็ปต์ “เซเว่น 4.0” ออกมาเพิ่มสีสันด้วยเช่นกัน

“ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขยายตัวของเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับรูปแบบการทำงานตามไปด้วย สำหรับบริษัทได้นำแนวคิด “ซีพี ออลล์ 4.0” เข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจ เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตอนนี้เริ่มนำแนวคิด “ซีพี ออลล์ 4.0” เข้ามาใช้บ้างแล้ว ต่อไปจะมีการนำบล็อกเชน (blockchain) ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence) เข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ซีพีออลล์และร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นกลายเป็นบริษัทที่มีความทันสมัยของโลก ที่ไม่ล้ำสมัยแต่ก็ไม่ล้าสมัย

ล่าสุด ได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ภายใต้งบฯลงทุน 50 ล้านบาท โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

วัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่เน้นการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับโรโบติกส์และดิจิทัลเทคโนโลยี

“ก่อศักดิ์” ย้ำว่า การเปิดศูนย์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แต่เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษา อีกทั้งการพัฒนาหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นนี้ก็เพื่อรองรับความต้องการของหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับเฉพาะธุรกิจในเครือ ซี.พี.อย่างเดียว

ขณะเดียวกัน แม้หลาย ๆ อุตสาหกรรมจะให้ความสำคัญและต้องการใช้หุ่นยนต์เป็นตัวช่วยให้แก่ธุรกิจ แต่สำหรับร้านเซเว่นฯแล้ว ไม่มีนโยบายจะนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนแรงงานคนเด็ดขาด ถ้าบริษัทจะใช้หุ่นยนต์ในร้าน ก็จะเป็นการใช้เพื่อลดภาระของพนักงานเท่านั้น เช่น การรับชำระใบแจ้งหนี้ต่าง ๆ ในช่วงที่มีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก

เพราะบริษัทเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีก คือ การสร้างความผูกพันของลูกค้าด้วยตัวคน (human touch) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของงานบริการ

นอกจากนี้ บริษัทก็ร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง เช่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พัฒนาเซวี่บอต (Sevy Bot) หรือน้องแมงมุม ผู้ช่วยอัจฉริยะที่จะมาต้อนรับ ที่แฟลกชิปสโตร์แห่งแรก สาขาโรงเรียนสาธิตแห่งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

“เราลอนช์ ‘เซวี่บอต’ ออกมาเป็นตัวแรก อีกทั้งเซเว่น

อีเลฟเว่นที่สหรัฐอเมริกาก็ให้ความสนใจและมาดูเซวี่บอตที่สาขานี้ด้วย และแม้เซวี่บอตจะมีกระแสตอบรับที่ดี แต่บริษัทก็จะไม่กระจายเซวี่บอตออกไปทุกสาขา แต่จะพัฒนาตัวอื่น ๆ ออกมาอีกในอนาคต เพื่อสร้างสีสันให้ลูกค้า”

พร้อมกันนี้ “ก่อศักดิ์” ยังเล่าว่า ตอนนี้ร้านเซเว่นฯมีหลากหลายโมเดลมากขึ้น ซึ่งปลายปีนี้ก็จะมีโมเดลใหม่ ๆ ออกมาอีก เพื่อเพิ่มสีสัน ทำให้ร้านทันสมัย ไม่ดูล้าหลัง

ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ล้ำสมัยจนเกินไป เพราะท้ายที่สุดก็คือ การขายของ และการมีโรบอตก็ไม่ถือจุดขายอะไรของเซเว่นฯ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คนต้องการซื้อของ ต้องการความสะดวก ซึ่งเราต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้

การทำธุรกิจของบริษัทยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็มีผลต่อความต้องการในตัวสินค้าและบริการ บริษัทจึงต้องปรับตัวให้ทันกับผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึงโอกาสที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับบริษัทด้วยเช่นกัน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาธุรกิจในทุกด้าน โดยมีการวางแผนกลยุทธ์ ทั้งแผนแบบระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างรากฐานการดำเนินธุรกิจให้มีความมั่นคง พัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ การเสาะแสวงหาช่องทางทางการตลาดใหม่ ๆ หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น การสั่งและซื้อสินค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการเชื่อมต่อกับสังคมไร้เงินสดด้วยการรับชำระค่าสินค้า และบริการตามความสะดวกของลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นเงินสด บัตรเครดิต หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ฯลฯ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและการคาดหวังของผู้บริโภค

จากนี้ไป เซเว่นฯจะยังเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้จะเปิดเพิ่ม 700 สาขา และคาดว่าปี 2564 จะมี 13,000 สาขา จากปัจจุบันที่มี 10,533 สาขาทั่วประเทศ

คาดว่าจะใช้งบฯลงทุน 9,500-10,000 ล้านบาท เป็นการเปิดร้านใหม่ 3,600-3,800 ล้านบาท ปรับปรุงร้านเดิม 2,000-2,100 ล้านบาท การลงทุนโครงการใหม่ บริษัทย่อย ศูนย์กระจายสินค้า 3,100-3,200 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวร ระบบสารสนเทศ อีก 800-900 ล้านบาท

สำหรับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 128,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากการขายสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจากร้านเซเว่นฯ รวมถึงจากธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง “สยามแม็คโคร”

แม้จะวางโพซิชันนิ่งที่แตกต่างจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่และคู่แข่งรายอื่น ๆ ด้วยการชูจุดขายของการเป็นร้านอิ่มสะดวก เน้นขายสินค้ากลุ่มของกินเป็นหลัก และมีสาขาถึง 10,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ


แต่เซเว่นอีเลฟเว่นในฐานะเจ้าตลาด “ร้านสะดวกซื้อ” ก็ยังเดินหน้าเพิ่มจุดขายใหม่ ๆ แบบไม่หยุด