“บิวตี้” ดิ้นฟื้นยอดส่งอีคอมเมิร์ซบุกจีนแตกไลน์พรีเมี่ยม

“บิวตี้” ยันไม่ขายหุ้นเพิ่ม ยอมรับรายได้ Q2 ไม่ตามเป้า ก่อนเปิดแผนครึ่งปีหลัง รุกหนักอีคอมเมิร์ซจีน-จัดทัพดิสทริบิวเตอร์ 11 ประเทศ เร่งปลุกตลาดส่งออก ก่อนเดินหน้าแตกไลน์สินค้าใหม่ขยายฐานลูกค้าบน/ล่าง ปรับโฉมโมเดลร้านใหม่ทุกแบรนด์ ลดดีกรีขยายสาขา หันเชื่อมออฟไลน์-ออนไลน์ คุมต้นทุน คาดรักษาอัตรากำไรสุทธิ 20% คงเป้ารายได้ 4,290 ล้านบาท

นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท อาทิ การสร้างออร์เดอร์ปลอมเพื่อบันทึกยอดขาย การผลิตที่ชะงักเนื่องจากซัพพลายเออร์ที่ผลิตสินค้าให้ไม่ผ่านเกณฑ์ อย. หรือแม้กระทั่งการเจ็บป่วยอย่างหนักจนใกล้เสียชีวิต และการขายหุ้นเพื่อทิ้งบริษัทนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เนื่องจากสินค้าของแบรนด์บิวตี้ คอทเทจ ที่เคยขายดี มียอดขายลดลง และกระแสการตรวจจับเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานของ อย. มีผลทำให้ผู้บริโภคระวังในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ตลอดจนกระแสดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังการส่งออกในจีน จากมาตรการตรวจตราที่เข้มขึ้น ทำให้เกิดความล่าช้าในระบบโลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าผลกระทบดังกล่าวเป็นแค่ระยะสั้นเท่านั้น และในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงเดินหน้าทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง โดยไฮไลต์หลักคือการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้จับมือกับพาร์ตเนอร์ ที่เป็นอีคอมเมิร์ซในจีนแล้ว จำนวน 5 ราย ได้แก่ TMALL, KAOKA, VIP, YUNJI และ JD ในลักษณะ cross border e-Commerce ซึ่งจะต่างจากการซื้อขายออนไลน์แบบปกติ ตรงที่คลังสินค้าของช่องทางดังกล่าวจะอยู่ในประเทศจีน ใช้วิธีการของศุลกากรพิเศษ และเสียภาษี VAT ในอัตราที่ต่ำลง โดยจะเริ่มทำการขายได้ภายในเดือนนี้ และหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในกลุ่มอาเซียนที่ใช้ระบบตัวแทนจำหน่าย ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 ประเทศ 17 สาขา 141 จุดจำหน่าย อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว เมียนมา ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เตรียมที่จะเซ็นสัญญาแต่งตั้งอีก 3 ประเทศ อาทิ ตะวันออกกลาง สิงคโปร์ และกัมพูชา และจัดประชุมใหญ่เพื่อกำหนดทิศทางการขยายตลาดไปสู่รีจินอลแบรนด์ ในเดือนกันยายนนี้ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศจาก 13% เป็น 16% ได้ภายใน 5 ปี

ส่วนธุรกิจในประเทศยังมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง แต่จะไม่แอ็กเกรสซีฟเท่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเทรนด์ของการช็อปออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการช็อปปิ้งของลูกค้ามากขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะต้องลงทุนเปิดร้าน จึงเป็นแนวทางของการเชื่อมประสบการณ์ในช่องทางร้านค้าปกติ และออนไลน์ให้ดีขึ้นมากกว่า พร้อมกับเตรียมรีโนเวตหน้าร้านในแต่ละแบรนด์ให้ทันสมัย น่าสนใจ ตามไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า

โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งสิ้น 348 สาขา แบ่งเป็น บิวตี้ บุฟเฟต์ 265 สาขา บิวตี้ คอทเทจ 75 สาขา บิวตี้มาร์เก็ต 8 สาขา จุดขายในคิง เพาเวอร์ 8 สาขา 22 จุดจำหน่าย ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 650 สาขา และบู๊ทส์ 145 สาขา มีช่องทางอีคอมเมิร์ซ อาทิ เว็บไซต์ของแบรนด์ลาซาด้า ช้อปปี้ คอนวี่ ฯลฯ ตลอดจนการเปิดตัวสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แตกไลน์พรีเมี่ยมของแบรนด์บิวตี้ คอทเทจ ในซีรีส์ “ลักเซอรี่” ประกอบไปด้วย รองพื้น แป้ง อายแชโดว์ และลิปสติก เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มกลาง-บน และเตรียมขยายตลาดคอนซูเมอร์โปรดักต์ ในช่องทางร้านสะดวกซื้อ ขยายฐานลูกค้าแมสควบคู่ไปด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับทางเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายกว่า 10,000 สาขา

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันยอดขายปีนี้ให้เป็นไปตามเป้า 4,290 ล้านบาท และมีอัตรากำไรไม่ต่ำกว่า 20%