กำลังซื้อ “จีน” มหาศาล โอกาส ตลาดใหญ่…แต่ไม่ง่าย

หากพูดถึงประเทศที่เหมาะแก่การลงทุนทำธุรกิจ คงหนีไม่พ้นประเทศมหาอำนาจอย่าง “จีน” ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่จีนกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การค้าในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน มากกว่าจำนวนประชากรในไทยหลายเท่าตัว ทำให้ผู้ประกอบการในไทยต่างมองเห็นโอกาสเข้าไปลงทุนสร้างรายได้ในจีน

ในงานสัมมนา “เดินหน้าสินค้าไทยไปตลาดจีน มิติใหม่ของผู้ประกอบการไทย” ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ฉายภาพว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจในประเทศจีนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการค้ามีรายได้ขยายตัวกว่า 6.5% มีสัดส่วนการส่งออกสินค้า 10% การนำเข้าสินค้า 16% และในอนาคตมีแนวโน้มโตขึ้น

ด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคจีนอยู่ในช่วงที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีความต้องการบริโภคอย่างไม่จำกัด ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคจีนเป็นกลุ่มซื้อสินค้ามากที่สุดในโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทแบรนด์เนมต่าง ๆ อย่างเช่น กระเป๋า เครื่องสำอาง บวกกับค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ชาวจีนมีกำลังซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า โอกาสบุกตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ประกอบการต้องเริ่มต้นเรียนรู้ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคในประเทศจีนเป็นอันดับแรก ผู้บริโภคในจีนกว่า 50% ให้ความสนใจสินค้าที่เน้นความประณีตและงานฝีมือ ผู้ประกอบการต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น สร้างแบรนด์ให้มีจุดเด่น ปรับโลโก้สื่อความหมายสินค้าอย่างครบเครื่อง และบรรจุภัณฑ์มีความทันสมัย หลีกเลี่ยงการแข่งขันเรื่องราคา เพราะคุณภาพของสินค้าถือว่าสำคัญที่สุด

ก้าวแรกสู่การข้ามกำแพงเมืองจีน ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะประสบปัญหาในการทำธุรกิจ เช่น การสื่อสารไม่มีความรู้ทางภาษาจีน และไม่เข้าใจการทำตลาดผ่านช่องทางการขาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาจากการทำตลาดที่ไม่แตกต่างจากคู่แข่ง ดังนั้นการประสบความสำเร็จในตลาดจีน จะต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคจีนและเรียนรู้ช่องทางการตลาดจีนอย่างล้วงลึก ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นจากการเปิดหน้าร้านตามสถานที่ต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไปมากที่สุด อาทิ เอเชียทีค, เยาวราช, ถนนข้าวสาร เป็นต้น เพื่อทำวิจัยศึกษาตลาดผู้บริโภคจีน ให้รู้เท่าทันผู้บริโภคจีน

เช่นเดียวกับการทำตลาดออนไลน์ให้สอดคล้องกับความนิยมของผู้บริโภคจีนที่ใช้ช่องทางออนไลน์ อาทิ เว่ยปั๋ว, วีแชท, ไป่ตู้ ในการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ และมีอัตราใช้อินเทอร์เน็ต จำนวน 650 ล้านคน หรือเท่ากับ 2 เท่าของประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งผู้บริโภคจีนใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับเมืองที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด คือ เมืองอี้อู ในมณฑลเจ้อเจียง และอำเภอชิงหลิว มณฑลฝูเจี้ยน มียอดมูลค่าการทำธุรกรรมการเงินรวม 3.4 พันล้านหยวน

ในขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายต่างประสบความสำเร็จในการทำตลาดที่จีน อาทิ เถ้าแก่น้อย, ดอกบัวคู่ ทั้ง 2 แบรนด์เริ่มต้นจากการเข้าไปทำตลาดในจีน ด้วยการหาตัวแทนจำหน่าย และนำสินค้าไปทดลองตลาดที่งานมหกรรมต่าง ๆซึ่งการลงทุนครั้งแรกของทั้ง2 แบรนด์เริ่มมีปัญหาในเรื่องทำตลาด ช่วงแรกไม่มีคนรู้จักแบรนด์ สินค้าไม่น่าสนใจ สร้างยอดขายไม่ได้ เริ่มกลับมาวางแผนคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ เข้าไปทำตลาด เชื่อว่าเมื่อสินค้าติดลมบนแล้วจะสามารถสร้างยอดขายได้อย่างมหาศาล

ด้าน “กำธน ลีเลิศพันธ์” กรรมการ บริษัท ดอกบัวคู่ จำกัด และบริษัทบัวสยามเทรดดิ้ง (เซี่ยงไฮ้) ผู้ทำธุรกิจยาสีฟันสมุนไพร กล่าวว่า การค้าขายกับประเทศจีน เรื่องคุณภาพสินค้าต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของสินค้าไทย ประกอบกับมีนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจ สอดคล้องกับความนิยมของผู้บริโภคจีนในช่วงนั้น อย่างเช่นในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนจะใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมผู้ประกอบการต้องนำสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจีนเข้าไปทำตลาด

“อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” ผู้ก่อตั้งบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ก่อนเข้าไปทำธุรกิจในจีนต้องตั้งปณิธานเลยว่า จะเข้าไปลุยตลาดให้สำเร็จได้ โดยการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ชูสินค้าที่มีจุดเด่น ขายสินค้าให้จีน ทุกอย่างต้องมีภาพลักษณ์ แสดงให้เห็นความเป็นจีนทั้งหมด อย่างเช่นเรื่องภาษาจีน ให้ผู้บริโภคจีนเข้าใจง่ายและที่สำคัญไม่ควรแข่งขันเรื่องสินค้าราคาถูก เพราะตลาดสินค้าในจีนก็มีศักยภาพไม่แพ้ไทย ในช่วงเริ่มต้นอาจไม่ประสบความสำเร็จ ต้องใช้เวลาในการทำตลาด ยึดความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน เพื่อความสำเร็จในอนาคต

ถึงแม้จีนจะเป็นตลาดที่น่าสนใจด้านการค้าการลงทุนสูง แต่ก็ถือเป็น “ตลาดปราบเซียน” ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต่างไม่ประสบความสำเร็จ


ผู้ประกอบการต้องทำงานให้หนัก ศึกษากลุ่มผู้บริโภคและสปีดธุรกิจอย่างรวดเร็ว…เพราะไปจีนไม่ง่าย