สงครามอีคอมเมิร์ซแรงไม่หยุด “ซี.พี.” ผนึกญี่ปุ่นบุกจีน-อาเซียน

ภาพจาก แฟ้มภาพ

ดีมานด์สินค้าญี่ปุ่นของผู้บริโภคจีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ หรือสินค้าเทคโนโลยี ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากพยายามหาซื้อผ่านทางออนไลน์ จนกระตุ้นให้เกิดธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามชาติที่เน้นขายสินค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็ว 

โดยหนึ่งในรายที่มาแรง คือ “อินอะโกรา” (Inagora) สตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซสัญชาติญี่ปุ่น ผู้บริหารแพลตฟอร์ม “กวานตัว” (Wandou) ปัจจุบันมีฐานลูกค้าชาวจีนประมาณ 4 ล้านราย และพอร์ตโฟลิโอสินค้าอาหาร แฟชั่น เครื่องสำอาง และของใช้ในบ้านแบรนด์ญี่ปุ่นกว่า 4 หมื่นรายการ สร้างยอดขายได้กว่า 1.1 หมื่นล้านเยนในปีที่แล้ว เติบโตเกือบ 5 เท่าตัวจากปี 2559

ล่าสุดสำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า “อินอะโกรา” ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ซี.พี.” เพื่อใช้โนว์ฮาวด้านกระจายสินค้าและธุรกิจอาหารมาเสริมแกร่งแผนรุกตลาดแดนมังกรในช่องทางออฟไลน์ หลังจากเปิดสาขาออฟไลน์แห่งแรกในเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนานทางตะวันออกของจีนเมื่อต้นเดือน และมีแผนขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

โดยในสัญญาความร่วมมือนี้จะรวมถึงด้านการดำเนินการและเงินทุน ซึ่ง ซี.พี.ได้ลงทุนระดับหลายล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจของอินอะโกรา พร้อมให้ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์สำหรับขนส่งสินค้าและบริการดีลิเวอรี่ เพื่อสนับสนุนการขยายสาขาร้านอินอะโกราในประเทศจีน รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะอาศัยความร่วมมือนี้รุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีดีมานด์สินค้าญี่ปุ่นสูง และเครือ ซี.พี.มีเครือข่ายธุรกิจอยู่แล้ว

ทั้งนี้ความนิยมสินค้าญี่ปุ่นในหมู่ชาวจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังผู้บริโภคจำนวนมากได้สัมผัสและทดลองใช้สินค้าญี่ปุ่นระหว่างการท่องเที่ยว และพยายามหาซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านทางออนไลน์เมื่อกลับถึงบ้านเกิด ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซที่เชี่ยวชาญการค้าข้ามแดนมีจำนวนเพิ่มขึ้น และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นหลายรายจนเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น “อินอะโกรา” และ “โอริกามิ” ซึ่งเน้นจับลูกค้าชาวจีน แต่มีแนวโน้มจะขยายฐานไปยังส่วนอื่น ๆ ของเอเชียต่อไป

โดยเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา อินอะโกราได้รับเม็ดเงินลงทุนจากธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น อิโตชู (Itochu) กลุ่มธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งมีธุรกิจหลากหลาย อาทิ เชนร้านสะดวกซื้อ

แฟมิลี่มาร์ท บริหารแบรนด์คอนเวิร์สและอื่น ๆ ได้ลงทุน 4 พันล้านเยน และส่งสินค้าเข้าไปวางขายบนแฟลตฟอร์มทั้งแบรนด์เนมและโอท็อป รวมถึงให้ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ เช่นเดียวกับบริษัทสื่อสาร “เคเคดีไอ” (KKDI) เจ้าของเครือข่ายมือถือเอยู (AU) และบริษัท “เอสบีไอ โฮลดิงส์” (SBI Holdings) ผู้ให้บริการด้านการเงินที่ลงทุนรวมกัน 3.6 พันล้านเยน

ความเคลื่อนไหวนี้แสดงถึงความเป็นไปได้ที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันผู้เล่นทั้งจากจีน, เกาหลี, ไทย และสหรัฐ ต่างแข่งขันราคากันอย่างดุเดือดอยู่แล้วนั้น

อาจจะดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยผู้เล่นจากญี่ปุ่นที่อาจจะเข้าร่วมศึก ซึ่งต้องรอดูกันว่าหากเกิดขึ้นจริง ทิศทางการแข่งขันจะเป็นอย่างไรต่อไป