เซ็นทรัล เขย่าโครงสร้างรอบใหม่ New Economy หรือจะมี IPO ?

เป็นข่าวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งในวงการค้าปลีกเมืองไทยและต่างประเทศ เมื่อสื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานถึงการที่ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” มีการศึกษาถึงแผนการนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แหล่งข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวระบุว่า เซ็นทรัลกรุ๊ปกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ โดยทางกรุ๊ปอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างในกลุ่มธุรกิจรีเทลซึ่งปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า อาทิ เซ็นทรัล, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, เซน, ซูเปอร์สปอร์ต, โรบินสัน และยังรวมไปถึงห้างในต่างประเทศ เช่น ลา รีนา-เชนเต้, อิลลุม ตลอดจนบิ๊กซี ในเวียดนามมีการคาดการณ์กันว่าไซซ์ของ IPO ในครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และอาจสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานของเซ็นทรัลกรุ๊ปในปีนี้ มีการตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3.97 แสนล้านบาท โดยจะมาจากยอดขายของรีเทลเป็นสัดส่วนถึง 40%

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นิโคโล กาลันเต้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด CEO of Central Retail ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาดูในส่วนของกลุ่มธุรกิจรีเทล อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต เพาเวอร์บาย เซ็นทรัลโฮมกรุ๊ป เซ็นทรัลออนไลน์กรุ๊ป เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป ออมนิแชนเนล เซ็นทรัลเทคโนโลยีออแกไนเซชั่น รวมถึงกลุ่มห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศของเซ็นทรัลกรุ๊ป ได้กล่าวถึงกระแสข่าวดังกล่าว

“นิโคโล” ระบุเพียงว่า เขาไม่สามารถให้คอมเมนต์อะไรได้ ณ ขณะนี้ โดยภารกิจของเขาในขณะนี้กำลังโฟกัสกับการขับเคลื่อนทุกกลุ่มธุรกิจของเซ็นทรัล ให้เดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ “นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี” สู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และดิจิไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการเชื่อมต่อประสบการณ์หน้าร้าน ไปยังออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ

“เราต้องการสรรหาโมเดลธุรกิจที่แปลกใหม่ เพื่อตอบรับกับตลาดและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป”

ในขณะที่ธุรกิจในต่างประเทศก็มองโอกาสการลงทุนใหม่อยู่เสมอ ทั้งในยุโรป และเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการขยายมอลล์ใหม่ ๆ ภายใต้แบรนด์ที่มีอยู่เดิม รวมถึงการซื้อกิจการหากมีโอกาสที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการลงทุน

“เรามองว่าในเวียดนาม และยุโรป ยังมีโอกาสที่เซ็นทรัลจะเข้าไปต่อยอดอะไรได้อีกหลายอย่าง และในไทยเองก็ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวต่อไปเช่นกัน จากความแข็งแกร่งของเซ็นทรัลกรุ๊ป เราเชื่อมั่นว่าผลงานที่ออกมาจะดีขึ้นเรื่อย ๆ และมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ที่ผ่านมา “กลุ่มเซ็นทรัล” ได้รับมือโลกการค้าในยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมทัพความแข็งแกร่งของทีมบริหารเพื่อเป้าหมายการปั้นองค์กรให้เป็น truly world-class organization ในเวทีการค้าระดับโลก

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างบริหารครั้งสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลช่วง 2 ปีก่อนเพื่อรองรับกลยุทธ์การขยายงานของกลุ่มที่ต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด กลุ่มเซ็นทรัลได้เสริมทัพผู้บริหารระดับสูงขององค์กรด้วยบุคลากรที่มากด้วยความรู้ ความสามารถและประสบการณ์จากหลากหลายแขนงทั้งในและต่างประเทศ

ทั้ง นายญนน์ โภคทรัพย์ เข้ามาดำรงตำแหน่ง President of Central Group, นายนิโคโล กาลันเต้ (Mr.Nicolo Galante) อดีต Managing Partner บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ McKinsey & Company ดำรงตำแหน่ง Chief Operating Officer, นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ อดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ, นายสจ๊วต สเต็มเพิล (Mr.Stewart Stemple) รวมถึง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นที่ปรึกษาอาวุโส

ครั้งนั้น “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ขยายความว่า กลุ่มเซ็นทรัลเติบโตอย่างต่อเนื่องมากว่าเจ็ดทศวรรษ การสร้างทีมและการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถโตไปพร้อมองค์กรถือเป็นพันธกิจ top priority ของกลุ่ม ทีมผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคต ทั้งในและต่างประเทศและในโลกดิจิทัล และเพื่อนำพากลุ่มเซ็นทรัลให้เป็น truly world-class organization ในเวทีการค้าระดับโลก

ขณะเดียวกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลได้เปิดตัวทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ 9 คนของตระกูลจิราธิวัฒน์ เพื่อเข้ามาบริหารและรับช่วงงานต่อจากทีมปัจจุบันที่เริ่มปรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาและกุนซือสอนงานเรื่อง IPO อาจต้องลุ้นกันอีกที… แต่เรื่องที่ไม่ต้องลุ้นเลยก็คือ ภาพของเซ็นทรัล ที่จะกลายเป็น New Retailไม่ได้จำกัดตัวเองแค่ค้าปลีกอีกต่อไป หลังจากความร่วมมือกับกลุ่ม JD.Com ที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่เพียงการปลุกตลาดอีคอมเมิร์ซ แต่ยังรวมถึงการต่อยอดไปยังธุรกิจอีกหลากหลายแขนง ทั้งอีไฟแนนซ์ รวมถึงอีโลจิสติกส์ ซึ่งล้วนต่างตอบโจทย์ภาพของ “เซ็นทรัล” ที่จะกลายเป็น New Retail