ศึก “อีคอมเมิร์ซ” เวียดนาม 4 ยักษ์อัดโปรฯเดือดชิงลูกค้า

คอลัมน์ Market Move

แข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามดุเดือดไม่ย่อหย่อนไปกว่าประเทศอื่น ๆ โดย สมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) ประเมินว่า ตลาดจะเติบโตอย่างน้อยปีละ 25% ต่อเนื่องอีก 2-3 ปี โดยจะมีมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 และคิดเป็น 5% ของตลาดค้าปลีกรวม เป็นจากนักช็อปออนไลน์กว่า 35 ล้านคนซึ่งใช้เวลาออนไลน์ถึง 25 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ยิ่งกระตุ้นให้ผู้เล่นเดินหน้าทุ่มสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่หวังขึ้นแท่นผู้นำตลาด

หลักฐานที่สะท้อนความดุเดือดของตลาดได้ดีที่สุดคือ ตัวเลขรายได้ของผู้เล่นระดับท็อปของตลาด อาทิ ลาซาด้า, ช้อปปี้, ทิคิ (Tiki) และเซนโด (Sendo) ซึ่งต่างขาดทุนติดตัวแดงกันอย่างพร้อมเพรียง เนื่องจากการระดมโปรโมชั่นลดราคาเพื่อชิงฐานลูกค้ามาให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันด้านบริษัทแม่และนักลงทุนพร้อมเดินหน้าทุ่มเงินลงทุนในแพลตฟอร์มของตนเองอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

โดยลาซาด้าขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558-2559 ด้วยตัวเลขติดลบ 42.2 ล้านเหรียญสหรัฐและ 43.3 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ แต่เมื่อเดือน มี.ค. อาลีบาบายักษ์อีคอมเมิร์ซจีนซึ่งเข้ามาถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ปี 2559 ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนในแพลตฟอร์มนี้อีก 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากการลงทุนครั้งก่อนหน้าไปในทิศทางเดียวกับ “การีน่า” (Garena) ยักษ์ธุรกิจออนไลน์สัญชาติสิงคโปร์ ที่ประกาศหนุนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซช้อปปี้ในเวียดนามซึ่งกำลังขาดทุนต่อเนื่องเช่นกัน โดยหลังการเข้าสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อปี 2559 ขาดทุน 6.99 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2560 ขาดทุนเพิ่มเป็น 26.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปลายปีที่แล้วการีน่าได้เพิ่มทุนเป็น 611 ล้านเหรียญสหรัฐ จนทำให้สินทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้น 10 เท่า เป็น 31.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นอย่างทิคิ และเซนโดนั้น แม้จะขาดทุนแต่ยอดขายยังเติบโตต่อเนื่อง จนสามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนได้โดยทิคิ อดีตธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์ ก่อตั้งเมื่อปี 2010 และมีวีเอ็นจี (VNG) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติเวียดนามหนุนหลังนั้น ได้ “เจดีดอทคอม” (JD.com) ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนอีกรายเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อปลายปี 2560 ด้วยการซื้อหุ้นมูลค่า 44 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมประกาศลงทุนเพิ่มอีกเมื่อเดือน ม.ค. แม้ปีที่แล้วทิคิจะขาดทุน 12.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ขาดทุน 7.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายได้ยังเติบโตดี ซึ่งปี 2559 มีรายได้ 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6 เท่าเทียบกับปี 2558

ส่วนเซ็นโดเป็นเพียงรายเดียวในกลุ่มท็อป 4 ที่ยังมีเจ้าของเป็นบริษัทสัญชาติเวียดนาม ยังขาดทุนต่อเนื่องเช่นกัน ด้วยผลขาดทุน 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐและ 5.9 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ แต่สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 17.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ “เบรน” บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจจากสหรัฐประเมินว่า อีคอมเมิร์ซเป็นตลาดมาแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีฐานผู้ใช้งานมหาศาลกว่า 200 ล้านคน จำนวนนี้เป็นชาวเวียดนามถึง 35 ล้านคน และนับเป็นกลุ่มที่นิยมช็อปออนไลน์ผ่านมือถือเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค สะท้อนจากการใช้เวลาช็อปออนไลน์ถึง 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ น้อยกว่าผู้นำอย่างสิงคโปร์และฟิลิปปินส์เล็กน้อยเท่านั้น

ต้องติดตามดูกันว่าในครึ่งหลังของปี 2561 นี้ บรรดาอีคอมเมิร์ซในเวียดนามจะฟาดฟันโปรโมชั่นกันดุเดือดแค่ไหน และจะมีกลยุทธ์รูปแบบใดออกมาจูงใจลูกค้าบ้าง