เบียดเซ็นทรัล คว้า “ดีนแอนด์เดลูก้า” NPPG ปักธง ฟู้ดเอเชีย

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ในระยะเวลาเพียง 2 ปีกว่า หลังจาก “NPPG” หรือเดิม “นิปปอน แพ็ค” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ ได้เขย่าโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยการแตกไลน์มายังธุรกิจอาหาร เพื่อหาโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ตลอดจนบาลานซ์ความเสี่ยงจากธุรกิจหลัก ด้วยการทุ่มงบฯซื้อสิทธิ์การบริหารอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีแบรนด์อยู่ในพอร์ตแล้วถึง 4 แบรนด์ด้วยกัน อาทิ เอแอนด์ดับบลิว (A&W) มิสเตอร์โจนส์ ออร์ฟาเนจ (Mr. Jones” Orphanage) มิยาบิ (MIYABI)

และแบรนด์ล่าสุดก็คือ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ที่ได้รับสิทธิ์จากบริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ในรูปแบบของมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทยเป็นระยะเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น เคยประกาศว่ามีการพูดคุยกับทาง “กลุ่มเซ็นทรัล” ถึงสิทธิ์ในการบริหารร้านดังกล่าวนอกสหรัฐอเมริกา

“ธีระ วยากรณ์วิจิตร” ผู้อำนวยการ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวในเรื่องนี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาไม่เพียงแต่กลุ่มเซ็นทรัล แต่ยังมีอีกหลายบริษัทให้ความสนใจดีลของดีน แอนด์ เดลูก้า และ NPPG ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเราก็มองว่า NPPG จะมีโอกาสการเติบโตร่วมกันได้ดีกว่า ตลอดจนศักยภาพและทิศทางการลงทุนที่ชัดเจน

“ศุภจักร ไตรรัตโนภาส” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า หลังจากที่บริษัทได้ซื้อสิทธิ์ในการบริหารแบรนด์ร้านอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มฟาสต์ฟู้ด คาเฟ่ และร้านอาหารญี่ปุ่น “ดีน แอนด์ เดลูก้า” จะเข้ามาเสริมในด้านของเบเกอรี่และคาเฟ่ให้ครอบคลุมความต้องการได้มากขึ้น

ภายใน 5 ปีได้ตั้งเป้าการเปิดสาขาไว้ที่ 100 แห่ง หรือปีละไม่ต่ำกว่า 10 สาขา โดยจะเน้นการเปิดโมเดลไซซ์เล็กหรือคาเฟ่ เนื่องจากมีความคล่องตัวมากกว่าทั้งการลงทุน การหาพื้นที่ ระยะเวลาการคืนทุน ฯลฯ ตลอดจนการต่อยอดสินค้าของดีนฯขยายไปยังช่องทางอื่น ๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ เพราะนอกจากตัวร้านแล้วยังมีกลุ่มสินค้าประเภทวัตถุดิบและรีเทลโปรดักต์ที่มีศักยภาพในการขยายตัวด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมองหาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มร้านอาหารมีประมาณ 8-10 แบรนด์ เพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างความแข็งแกร่งจากการมีแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้หลากหลายรูปแบบ โดยประเภทของร้านที่มองเอาไว้ ได้แก่ ร้านอาหารซีฟู้ด ร้านก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

“ไดเร็กชั่นของบริษัทต่อจากนี้ต้องการโฟกัสไปที่กลุ่มธุรกิจฟู้ดมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจอาหารในระดับภูมิภาค รวมไปถึงกลุ่มอาเซียนและจีน ล่าสุดได้ร่วมทุนกับบริษัทในเครือซีพีที่ประเทศจีน จัดตั้งบริษัท คิงฮิวล์ ฟู้ด เพื่อนำธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารไทย อาหารทะเล ฯลฯ เข้าไปให้บริการ แบรนด์แรกที่นำเข้าไปก็คือ แหลมเจริญซีฟู้ด”

“ศุภจักร” ระบุว่า ได้จับมือกับแหลมเจริญซีฟู้ด เป็นร้านอาหารอันดับต้น ๆ ที่คนจีนให้ความสนใจเมื่อเดินทางมายังประเทศไทย และด้วยศักยภาพของพาร์ตเนอร์ในด้านของโลเกชั่นในห้างชั้นนำหัวเมืองหลักกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ระบบโลจิสติกส์ ครัวกลาง เน็ตเวิร์กต่าง ๆ บวกกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของคนชั้นกลางในจีน คาดว่าจะทำให้โมเดลนี้มีผลตอบรับที่ดี และสร้างการเติบโตรายได้ของร้านในจีนสูงกว่าที่ไทยได้มากกว่า 50% ต่อสาขา

สำหรับสาขาแรกของแหลมเจริญซีฟู้ดในจีน คาดว่าจะเปิดได้ภายในไตรมาส 4 ที่เซี่ยงไฮ้ ภายในห้างซูเปอร์แบรนด์ มอลล์ และมีแผนจะขยายปีละ 15-20 สาขาต่อปีในหัวเมืองหลัก อาทิ ปักกิ่ง เฉิงตู ฉงชิ่ง เสิ่นเจิ้น ก่อนจะมองการนำแบรนด์ร้านอาหารไทย เข้าไปเปิดเพิ่มภายในสิ้นปี

“ภายใน 3-4 ปีตั้งเป้าที่จะมีร้านอาหารในเครือรวม 2,000 แห่ง แบ่งเป็นลงทุนเองประมาณ 20% ส่วนที่เหลือคือการให้สิทธิ์แก่ซับแฟรนไชส์เพื่อเร่งสปีดสาขา และไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน รับกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเป็นผู้นำด้านอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคนี้”

ตลาดร้านอาหารมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่อย่าลืมว่าตลาดนี้แข่งขันกันดุเดือดไม่แพ้เซ็กเมนต์อื่นเลยทีเดียว…