อาลีบาบาปั้นฮับเชื่อมเอเชีย ขนทุกแพลตฟอร์มยึดไทย

ภาพ:AFP

“อาลีบาบา” ขนสารพัดแพลตฟอร์มธุรกิจปักธงอีอีซี ตั้งฐานค้าปลีก-ส่ง,ท่องเที่ยว, การเงิน ชูช่องทางเข้าถึงฐานลูกค้าจีน-โลก หวังกวาดเอสเอ็มอีไทยเข้าระบบเสริมแกร่งไลน์อัพสินค้า-บริการ ก่อนสปริงบอร์ดรุกอาเซียน อินเดีย ตะวันออกกลาง 

นายเจม ชู รองหัวหน้าอาลีบาบากรุ๊ป-ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ด้วยดีมานด์ทั้งจากเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันผู้บริโภคหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย และสหรัฐ ต้องการสินค้าไทย รวมถึงแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเข้ามาช่วยหนุน กลายเป็นโอกาสของบริษัทที่เข้ามาลงทุน

โดยบริษัทมีแพลตฟอร์ม โนว์ฮาว รวมถึงฐานลูกค้า จึงเข้ามาเป็นตัวกลาง ด้วยการลงทุนตั้งฐานในประเทศไทยเป็นฮับสำหรับต่อยอดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และตะวันออกกลาง พร้อมชิงความได้เปรียบในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังดุเดือด

ทั้งนี้ ได้เดินหน้านำบียูต่าง ๆ ของบริษัทเข้ามาให้บริการในประเทศไทย นำโดยแพลตฟอร์มค้าปลีก-ส่ง ทั้งห้างออนไลน์ “ทีมอลล์” มาร์เก็ตเพลซ “เถาเป่า” และค้าส่ง “อาลีบาบา” หนุนด้วยแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ “ไช่เหนี่ยว” ตามด้วยแพลตฟอร์มท่องเที่ยว “ฟลิกกี้” รวมถึงแพลตฟอร์มการเงิน “อาลีเพย์” ชูจุดขายด้านความสะดวกในการเข้าถึงฐานลูกค้าชาวจีนและทั่วโลก รวมถึงโนว์ฮาวด้านอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ ก่อนจะนำธุรกิจอื่นในเครือตามเข้ามาในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นบริหารด้วยตนเองหรือจับมือพาร์ตเนอร์

ซึ่งตามเป้าหมายที่วางไว้จะดึงผู้ประกอบการค้าปลีก-ส่งและท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่ระบบอาลีบาบา ซึ่งนอกจากบริษัทจะได้รายได้จากค่าบริการ จำนวนซัพพลายเออร์และไลน์อัพสินค้า-บริการที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังตอบรับดีมานด์ของผู้บริโภคชาวจีนได้ครอบคลุมขึ้น และเป็นฐานสำหรับต่อยอดรุกตลาดอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลางต่อไป

สำหรับแพลตฟอร์มค้าปลีก-ส่งนั้น จะใช้ทีมอลล์ เถาเป่า และอาลีบาบา เป็นหัวหอกหนุนการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังจีนก่อนขยายไปทั่วโลก เน้นสินค้าที่มีดีมานด์สูงอย่างผลไม้ ซีฟู้ด เครื่องสำอาง ขนม และหมอนยางพารา โดยจูงใจผู้ประกอบการด้วยความสะดวกให้สามารถขายสินค้าให้ชาวจีนได้โดยไม่ต้องเปิดบริษัท-บัญชีธนาคารหรือเช่าโกดังในจีน

ขณะเดียวกันยังสามารถรุกตลาดอินเดียและอาเซียนผ่านอีคอมเมิร์ซในเครือทั้งเพย์ทีเอ็มและลาซาด้า ตามด้วยกลยุทธ์การตลาดหนุนสินค้าไทยในเทศกาลช็อปปิ้งต่าง ๆ ทั้งเทศกาลสินค้าเกษตรที่จะมีการแจกคูปองลดราคา แฟลชเซลล์ รวมถึงส่งสินค้าไทยร่วมมหกรรมช็อปวันที่ 11 เดือน 11 และซูเปอร์เซปเทมเบอร์ เป็นต้น

“ปัจจุบันซัพพลายเออร์บนอาลีบาบามีการสั่งของถี่ขึ้นและจำนวนขั้นต่ำลดลง จึงเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่ตลาด โดยมีแพ็กเกจทั้งฟรีและเสียค่าบริการ 5,999-13,999 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น”

พร้อมใช้บริการบิ๊กดาต้าด้านการขนส่งสินค้าของไช่เหนี่ยวอย่างการเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบโกดังสินค้าอัตโนมัติ การคาดการณ์จำนวนออร์เดอร์ล่วงหน้า มาอัพเกรดระบบโลจิสติกส์ในไทย

ด้านการท่องเที่ยวจะเน้นดึงผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวมาเป็นคู่ค้าในฟลิกกี้ บริการด้านท่องเที่ยวแบบวันสต๊อปสำหรับชาวจีนมีไฮไลต์เป็นการขอวีซ่าออนไลน์ครอบคลุม 15 ประเทศรวมถึงไทย แพลนทริป จองตั๋ว แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ชูจุดขายการเข้าถึงฐานลูกค้าของอาลีบาบารวมกว่า 200 ล้านราย และสามารถโปรโมตในแคมเปญช็อปปิ้งต่าง ๆ รวมถึงโซลูชั่นอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการ โดยเน้นจับผู้ประกอบการในเมืองรองซึ่งยังมีช่องวางให้เติบโตได้อีกมาก

ขณะเดียวกันเดินหน้าขยายเครือข่ายคู่ค้าที่ใช้บริการการเงินของอาลีเพย์ อาศัยเทรนด์สังคมไร้เงินสดและการเป็นพันธมิตรกับทรู คอร์ปอเรชั่นซึ่งมีบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทรูวอลเลต เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าของบริการต่าง ๆ ของบริษัทและพันธมิตรเข้าด้วยกัน