แฟชั่นหรูดันไทยขึ้นแท่นฮับ แม่มาเองตั้งบริษัทบุกCLMV

แฟ้มภาพ

แบรนด์หรูขวัญใจนักช็อป “บาเลนเซียกา-กุชชี่-อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน-บ็อทเทก้าฯ” ปรับสูตรบุกไทยรอบใหม่ บริษัทแม่จัดทัพลุยเอง ! แห่จดทะเบียนตั้งบริษัท รับศักยภาพตลาดไฮเอนด์โตไม่มีสะดุด หวังต่อยอดปั้นไทยบุกขาช็อปไฮเอนด์เพื่อนบ้าน

ความเคลื่อนไหวของตลาดสินค้าหรูในปัจจุบัน นอกจากการทยอยเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ เพื่อเอาใจบรรดาสาวกกระเป๋าหนักอย่างต่อเนื่องแล้ว ขณะนี้แบรนด์ไฮเอนด์หลาย ๆ แบรนด์ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทำตลาด ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น โดยได้มีการทยอยจดทะเบียนตั้งบริษัทลูกในไทยเพื่อทำการตลาดเองโดยตรง จากเดิมที่แบรนด์ดังกล่าวเข้ามาทำตลาดผ่านดิสทริบิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่นำเข้า จัดจำหน่าย และทำมาร์เก็ตติ้งให้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่นหรู อาทิ บาเลนเซียกา, กุชชี่, อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน-บ็อทเทก้าฯ ได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในเมืองไทย เพื่อเข้ามาบริหารและทำตลาดด้วยตัวเอง แทนรูปแบบผ่านระบบตัวแทนจำหน่าย

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกฉายภาพดังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของแบรนด์แฟชั่นหรูเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น ไม่เพียงการเติบโตจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังรวมถึงกลุ่มลูกค้าในประเทศทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ หนุ่มสาวออฟฟิศที่เข้ามาซื้อและอยากเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าเหล่านี้ ส่งผลให้ฟีดแบ็กของหลาย ๆ แบรนด์ มีการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างยอดขายให้เติบโตจนบริษัทแม่พึงพอใจ

บริษัทแม่หลาย ๆ แบรนด์จึงต้องการที่จะเข้ามาตั้งบริษัทเพื่อผู้ทำตลาดเองโดยไม่ผ่านตัวแทน เพื่อทำให้การบริหารงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถสั่งการได้โดยตรง และสามารถคุมการสื่อสารทั้งในเชิงของภาพลักษณ์แบรนด์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า แคมเปญ การตกแต่งร้าน เซอร์วิส ฯลฯ ให้เป็นไปในภาพเดียวกันกับตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การตั้งบริษัทในเมืองไทยก็จะยังสามารถขยับขยายตลาดไปในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบได้สะดวก

โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีแบรนด์หรูที่บริษัทแม่ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดเอง อาทิ บ็อทเทก้า เวเนต้า, กุชชี่ ซึ่งทั้งคู่เคยให้กลุ่มเซ็นทรัลเป็นดิสทริบิวเตอร์ให้ ตลอดจนอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ที่เคยอยู่ในพอร์ตของพีพี กรุ๊ป และเบอร์เบอรี่ ที่เคยอยู่กับกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ของบี.กริม กรุ๊ป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังพบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ของกลุ่มแบรนด์แฟชั่นหรู 2 ราย ได้แก่ บริษัท บาเลนเซียกา (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยบริษัท บาเลนเซียกา เอส.เอ. จากฝรั่งเศสถือหุ้น 99.99%

ADVERTISMENT

ขณะที่บริษัท อเล็กซานเดอร์แม็คควีน (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยบริษัท ออทัมน์เปเปอร์ จากอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและแบรนด์ดังกล่าว ถือหุ้น 99.97% โดยทั้ง 2 แบรนด์นี้ที่ผ่านมาเป็นการนำเข้ามาทำตลาดของบริษัท คลับ 21 (ประเทศไทย) จำกัด

จากการสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังบริษัท คลับ 21 ก็พบว่า บริษัทยังทำการจัดจำหน่ายสินค้าของบาเลนเซียก้าอยู่

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ดังที่อยู่ภายใต้เครือ “เคอริ่ง กรุ๊ป” เจ้าของแบรนด์แฟชั่น และเครื่องประดับลักเซอรี่แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศส อาทิ กุชชี่, บ็อทเทก้า เวเนต้า, อีฟส์ เซนต์ โรรองต์, อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน,บาลองเซียก้า, คริสโตเฟอร์ เคน, บรีโอนี, ยูลิส นาร์แดง เป็นต้น

จากรายงานประจำปี 2560 ของเคอริ่ง กรุ๊ประบุว่า รายได้ของบริษัทในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 10,796 ล้านยูโร มาจากตลาดยุโรป 34% เอเชีย-แปซิฟิก 31% อเมริกาเหนือ 19% ญี่ปุ่น 9% และอื่น ๆ 7% โดยแบรนด์หลักที่เป็นตัวสร้างรายได้มาจาก กุชชี่ 57% อีฟส์ เซนต์ โรรองต์ 14% และบ็อทเทก้า เวเนต้า 11% นอกจากนี้ รายได้หลัก ๆ ยังมาจากช่องทางขายที่บริษัทเปิดสโตร์เองถึง 75% ขณะที่ช่องทางขายโฮลเซล (ขายส่ง) รวมถึงช่องทางอื่น ๆ อาทิ ค่ารอยัลตี้ มีสัดส่วนเพียง 25%

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ตลาดสินค้าลักเซอรี่ทั่วโลกนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดในอเมริกา และจีน ถือเป็น 2 ตลาดหลักที่ครองส่วนแบ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดสินค้าลักเซอรี่ทั้งหมด ในขณะที่ตัวขับเคลื่อนการเติบโตนั้นมาจากจีน และประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเป็นหลัก

นางสาววรรณชื่น ทองเย็น ผู้จัดการอาวุโส แผนกลักเซอรี่แอนด์ไลฟ์สไตล์ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์มงต์บลองค์ และมอริส ลาครัวซ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดลักเซอรี่ในไทยถือว่ามีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เจ้าของแบรนด์จึงมองโอกาสที่จะเข้ามาทำตลาดด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเคลื่อนไหวในการเข้ามาตั้งบริษัทเพื่อทำตลาดเองดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีแบรนด์ดังอีกจำนวนมากที่ยังมีนโยบายและต้องการจับมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น ซึ่งมีข้อดีในแง่ของการรู้จักตลาดและผู้บริโภคเป็นอย่างดี เพื่อจะกระจายสินค้าให้ถูกช่องทาง จัดกิจกรรม แคมเปญ การสื่อสาร เพื่อสร้างแบรนด์อะแวร์เนสให้เกิดการรับรู้อย่างตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์วางเอาไว้