อาณาจักรหมื่นล้าน “ยัสปาล” ยึดแฟชั่นเอเชีย

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ท่ามกลางการเข้ามาปักธงยึดพื้นที่ขายของบรรดาอินเตอร์แบรนด์แทบทุกหัวมุมเมืองไทย “ยัสปาล” เครือแฟชั่นสัญชาติไทย ที่มีแบรนด์อย่าง ยัสปาล, LYN, CC-OO, CPS กลับมีแพสชั่นที่จะนำแบรนด์ไทยเหล่านี้ออกไปเติบโตยังต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสในการเข้าถึงตลาดและกำลังซื้อใหม่ ๆ มากขึ้น แทนที่จะตั้งรับการแข่งขันอยู่แค่ในประเทศเพียงอย่างเดียว

หากมองว่ายัสปาลมองข้ามชอตไปที่การแข่งขันระดับภูมิภาคแล้วก็คงไม่ผิด เพราะที่ผ่านมาเครือนี้มีการปรับตัวรับกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรับมือกับฟาสต์แฟชั่นรายใหญ่ที่เข้ามาชิงพื้นที่ในตลาดไม่หยุด เพื่อทำให้ภาพรวมของแบรนด์มีความทันสมัย เทียบชั้นโกลบอล

“ยศเทพ สิงห์สัจจเทศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัสปาล จำกัด ผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น อาทิ ยัสปาล ซีพีเอส แชปส์ ซีซี ดับเบิลโอ ลิน ฯลฯ กล่าวว่า ตลาดแฟชั่นในไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ถึง 1.5 แสนล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ในเครือของยัสปาล ถือว่าอยู่ในกลุ่มของฟาสต์แฟชั่น ซึ่งมีการแข่งขันในเชิงของความเร็ว คุณภาพ และราคาค่อนข้างมาก

ช่วงที่ผ่านมาจึงมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานหลายอย่าง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น เช่น การหมุนเวียนของสินค้าในร้าน ที่ปัจจุบันจะมีสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่เข้ามาเติมทุกเดือน หรือการย่นระยะเวลากระบวนการดีไซน์ ไปจนถึงผลิตให้เหลือ 2 เดือน จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ทำให้สินค้ามีความทันสมัย ตอบรับกับกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี

ประกอบกับการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความเป็นอินเตอร์มากขึ้น เช่น การดึงดีไซเนอร์ตัวท็อปของวงการแฟชั่น ที่ออกแบบให้แบรนด์ชาแนล และเฟนดิ “คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์” มาร่วมทำคอลเล็กชั่นกับยัสปาลเมื่อต้นปี หรือ CPS CHAPS ที่ดึงศิลปินอย่าง “อดัม เลอวีน” เป็นพรีเซ็นเตอร์เมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึง “เคนดัล เจนเนอร์” นางแบบระดับโลกในช่วงก่อนหน้านี้ และล่าสุดการปรับโฉมร้าน LYN ในคอนเซ็ปต์ใหม่ ให้ดูลักเซอรี่ หยิบจับสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยดึงดีไซเนอร์จากอิตาลีที่เคยออกแบบให้แบรนด์แฟชั่นชื่อดังจำนวนมาก มาช่วยออกแบบ

ทำให้แบรนด์ในเครือยัสปาล ไม่เพียงมีฐานลูกค้าแค่ในประเทศเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยว ชาวอาเซียน จีน ตะวันออกกลาง ฯลฯ ที่เดินทางเข้ามาก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน ด้วยกลุ่มลูกค้าที่รู้จักแบรนด์มากขึ้น ทำให้ยัสปาลเล็งเห็นโอกาสการเติบโตในต่างประเทศ โดยกลยุทธ์ที่ใช้คือการเข้าไปทดลองเปิดสาขาหนึ่งก่อน เพื่อดูฟีดแบ็ก ความชอบของลูกค้า ก่อนวางแผนบุกตลาดจริงจังต่อไป

ปีนี้ยัสปาลได้นำแบรนด์ทั้งหมด 5 แบรนด์ในเครือ ออกไปชิมลางในอาเซียน เช่น เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย เรียบร้อยแล้ว จนมีประมาณ 30 สาขา และกำลังจะเข้าไปในอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยเป็นโมเดลการลงทุนเองทั้งหมด

โดยการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปี จะอยู่ที่ราว ๆ 1.5-2 พันล้านบาท แบ่งเป็น 1-1.5 พันล้านบาทสำหรับในประเทศ และอีก 500 ล้านบาทในต่างประเทศ และคาดว่าจะทำให้ทั้งกรุ๊ปมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.8-2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่คาดว่าจะมีรายได้ในปีนี้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท

“ในประเทศเราก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งการเพิ่มแบรนด์ใหม่ ๆ จาก ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 แบรนด์ การขยายสาขา แต่การทำตลาดจะต้องคัสตอมไมซ์มากขึ้น และสื่อสารแบบเรียลไทม์ โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ภายในปีหน้าจะได้เห็นทุกแบรนด์มีเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ รองรับการสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

ถึงเวลาพิสูจน์ฝีมือกันอีกครั้ง สเต็ปต่อไป รีจินอลแบรนด์…