มากกว่า…บิวตี้อีคอมเมิร์ซ Konvy รับจ้างบุกจีน

การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ที่ขยายตัวราว 17% ต่อปี โดยปี 2560 ตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) สินค้าประเภทความสวยความงาม ถือเป็นสินค้าอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความนิยมบนช่องทางนี้

รูปแบบของธุรกิจบิวตี้อีคอมเมิร์ซจึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ใช่ว่าทุกเว็บที่ทำจะประสบความสำเร็จได้ เพราะการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งการทำโปรโมชั่นราคา สินค้าและบริการที่โดนใจ ความปลอดภัยในการชำระเงิน ต้นทุนโลจิสติกส์ ฯลฯ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักช็อปออนไลน์

ท่ามกลางความร้อนแรงที่เกิดขึ้น “คอนวี่” ไม่เพียงได้การยอมรับจากผู้บริโภค จนมีฐานลูกค้ากว่า 1 ล้านรายในปัจจุบัน แต่ยังเป็นช่องทางที่แบรนด์แถวหน้าก็ต้องการเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้ ขยายการเข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ของตนด้วยเช่นกัน

“คิง กุ้ย หวง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอนวี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซความงาม ฉายภาพว่า ศักยภาพของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีอยู่มหาศาล ขณะเดียวกันก็เชื้อเชิญให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาในตลาดนี้อย่างไม่ขาดสาย การแข่งขันในธุรกิจนี้จึงรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรักษาฐานลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องขยายไปหาฐานใหม่ ๆ หรือบิสซิเนสโมเดลอื่น ๆ จึงเป็นไดเร็กชั่นของคอนวี่ที่จะสร้างการเติบโต คอนวี่ มีเครื่องสำอาง สกินแคร์ เพอร์ซันนอลแคร์ น้ำหอม อาหารเสริม ฯลฯ ทั้งโลคอล และอินเตอร์ วางขายกว่า 600 แบรนด์ และจะมีแบรนด์ใหม่ ๆ หมุนเวียนเข้ามาทุกเดือน หรือเฉลี่ย 50-60 แบรนด์ต่อปี เป็นการนำแบรนด์ที่อยู่ในกระแสความต้องการ และเทรนด์ความงามที่เกิดขึ้นสร้างความน่าสนใจและกระตุ้นการซื้อเช่น

ล่าสุดได้นำแบรนด์เครื่องสำอางพรีเมี่ยมจากยูนิลีเวอร์ “เค-ไบรท์” เข้ามาเปิดตัว ซึ่งขณะนี้มีวางจำหน่ายแค่ในคอนวี่ และเว็บอีคอมเมิร์ซอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น รวมถึงแบรนด์ฮิตจากเกาหลี “อีทูดี้ เฮาส์” จากค่ายอมอร์แปซิฟิก ที่เข้ามาเปิดร้านออนไลน์ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และนอกจากจะมีสินค้าไฮไลต์ของแบรนด์แล้ว ยังมีกลุ่มสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ รวมถึงโปรโมชั่นพิเศษในช่วงเปิดตัว โดยยังเตรียมที่จะเปิดร้านออนไลน์ของแบรนด์ในเครืออมอร์แปซิฟิกอื่น ๆ อีก เช่น อินนิสฟรี ในอนาคตควบคู่ไปกับการทำตลาด ตั้งแต่การตั้งราคาที่เหมาะสม การทำโปรโมชั่น ซึ่งลูกค้าจะสามารถหาสินค้าลดราคา-ราคาพิเศษได้ทุกวัน ตลอดจนการเข้าไปสื่อสารกับคนในออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ หรือแม้กระทั่งรายละเอียดเล็ก ๆ แต่มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออย่าง รูปถ่ายของสินค้าที่สวยงาม ละเอียด ชัดเจน

ผู้บริหารคอนวี่ฉายภาพการเติบโตของบริษัทในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาว่า แต่ละปีมีการเติบโตเฉลี่ย 100% มาโดยตลอด จนกระทั่งปีที่แล้ว ยอดขายเริ่มสโลว์ดาวน์ ซึ่งก็สอดคล้องไปกับภาวะของตลาดและเศรษฐกิจในภาพรวม แนวโน้มที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ธุรกิจต้อง “think beyond” คิดข้ามชอต หาโอกาสใหม่ ๆ มาช่วยเสริมการเติบโต

ไม่นานมานี้ คอนวี่ได้แตกไลน์ธุรกิจใหม่ โดยการทำหน้าที่เสมือนเป็นคนกลาง ที่พาแบรนด์ไทยไปบุกตลาดจีน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญ และคอนเน็กชั่นที่มีอยู่ นำร่องโดยการจับมือกับแบรนด์คิวท์เพรส ในเครือบริษัท เอสเอสยูพี กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์โอเรียนทอล ปริ๊นเซส รับกับกำลังซื้อของตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

“เรามองเห็นว่าแบรนด์ไทยจำนวนมากต้องการที่จะเข้าไปยังตลาดจีน แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือ How ? จะต้องเริ่มต้นอย่างไร จะเข้าไปช่องทางไหน และจะไว้เนื้อเชื่อใจใครได้ เพราะจีนมีแพลตฟอร์มจำนวนมาก แค่ออนไลน์ก็นับไม่ถ้วน และในวันนี้การเข้าไปก็ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เช่น หากต้องการไปเปิดช็อปใน T Mall ตอนนี้ ต้องมีคนเชิญเข้าไปเท่านั้น หากไม่มีก็ไม่สามารถเปิดร้านได้ และต้องจ่ายค่าแอ็กเคานต์ถึงปีละ 1 ล้านบาท”

โมเดลการทำตลาดที่จีน จึงเป็นการที่คอนวี่เข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับ 4-5 บริษัท ซึ่งมีความเชี่ยวชาญกันคนละด้าน เช่น ออนไลน์ ออฟไลน์ มาร์เก็ตติ้ง ดิสทริบิวชั่น ฯลฯ โดยในช่วงแรกจะปูพรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าไปในอีคอมเมิร์ซอันดับต้น ๆ ทุกแห่ง มีการทำตลาด สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านอินฟลูเอนเซอร์กว่า 100 คน และหลังจากนั้น เมื่อสามารถขอ FDA ได้สำเร็จจึงจะเริ่มเปิดตัวร้านออฟไลน์

ซีอีโอ คอนวี่ ตั้งเป้ากับการบุกช่องทางนี้ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับคิวท์เพรสถึงหลักพันล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ก่อนที่จะนำแบรนด์อื่น ๆ เข้าไปในอนาคต

นอกเหนือจากโมเดลใหม่นี้ ยังมองความเป็นไปได้ในการต่อยอดไปยังกลุ่มมีเดีย ไอที เกมมิ่ง ฯลฯ เพื่อบาลานซ์ให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน แต่จะขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะตอนนี้ธุรกิจบิวตี้ยังมีอะไรให้ต่อยอดได้อีกมาก

สุดท้ายแล้วมีออนไลน์ ก็ต้องมีออฟไลน์ ภายใน 2-3 ปี คงได้เห็น physical store ของคอนวี่ แต่จะเป็นรูปแบบไหนนั้นต้องติดตาม