ฝุ่นตลบ พ.ร.บ.ยาใหม่ ลุยต่อ…ไม่รอประเด็นถกเถียง

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

กลายเป็นประเด็นร้อนทันที สำหรับร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ ที่แม้จะผ่านประชาพิจารณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 มาแล้ว แต่ก็ยังเกิดข้อถกเถียงในบางประเด็น โดยเฉพาะกรณีการให้วิชาชีพอื่นเข้ามาจ่ายยาแทนได้ ซึ่งมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่างเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ก่อน นักวิชาการกลุ่มเภสัชกรรม ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ใหม่ว่า พ.ร.บ.นี้อ่อนลงกว่าของเดิม ส่วนกรณีที่เปิดให้วิชาชีพอื่นเข้ามาจ่ายยาได้นั้น จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เพราะคนที่รับยาจะได้รับยาจากพยาบาลหรือบุคลากรอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีมาตรการมาควบคุมเลย เท่ากับว่า ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน ซึ่งถ้าปล่อยในลักษณะนี้ก็จะมีปัญหาเพิ่มขึ้น

ล่าสุด “นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์” เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาฉบับเดิมมาแล้ว 4-5 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น อย.จึงได้นำร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. …ฉบับกระทรวงสาธารณสุข มาเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 77/2559 แล้วนำออกรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

“ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดรับกับบริบททางสังคม สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาฉบับเดิมถูกใช้มากว่า 50 ปี บางส่วนก็ไม่สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”

ความคืบหน้าล่าสุดหลังจาก อย.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พบว่า ความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกว่า 90% ของร่างทั้งหมด เช่น การเปลี่ยนนิยามยาใหม่ โครงสร้างราคายา จดสิทธิบัตรยา หรือกรณีการขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับเดิม ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่การขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยไม่กำหนดวันหมดอายุ ขณะที่ พ.ร.บ.ใหม่จะกำหนดวันหมดอายุของการขึ้นทะเบียนยา เพื่อให้ผู้ผลิตได้ทบทวนอยู่เสมอ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ก็มีเนื้อหาของร่างฯอีก 10% ที่กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ โดยเฉพาะกรณีของการให้วิชาชีพอื่นเข้ามาจ่ายยาแทนได้ ซึ่งข้อเท็จจริง คือ มีทั้งกลุ่มที่เสนอให้ลดวิชาชีพที่สามารถจ่ายยาได้จาก 3 วิชาชีพตาม พ.ร.บ.เดิม คือ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ลงเหลือ 1 วิชาชีพ และอีกกลุ่มที่เสนอให้เพิ่มวิชาชีพที่สามารถจ่ายยา ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่จะเปิดให้แต่ละฝ่ายออกมาชี้แจง

ขณะที่สเต็ปต่อไป นายแพทย์วันชัยกล่าวต่อว่า แม้มีบางประเด็นที่เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ อย.จะเดินหน้ารวบรวมเนื้อหาของร่างดังกล่าวที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยแล้วกว่า 90% เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยหากประเด็นใดยังไม่ครบ ก็จะให้คณะรัฐมนตรีส่งกลับมาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาแก้ไขต่อไป ก่อนจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับลูกเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดจะต้องถูกส่งในเดือนตุลาคมนี้

“อย.จะไม่รอช้า และจะไม่รอประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่จะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้น เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ และจะเริ่มเสนอร่างใหม่นี้ แต่ถ้ามีประเด็นเพิ่มเติมก็จะเสนอเป็นกฎหมายรองต่อไป เพื่อจะเดินหน้า”

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจน คือ การเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย