บุกอาณาจักร “อาลีบาบา” วางข่ายธุรกิจดักลูกค้าทุกพื้นที่

ความแข็งแกร่งด้านอีคอมเมิร์ซของ “อาลีบาบา” นั้นเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ทั้งจาก “มหกรรมช็อปปิ้งวันที่ 11 เดือน 11” ที่มีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี จนล่าสุดทะลุ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปเมื่อปีที่แล้ว หรือ “อาลีเพย์” หนึ่งในช่องทางจ่ายเงินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนรวมถึงบรรดาแพลตฟอร์มช็อปปิ้งอาลีบาบา, เถาเป่า, ทีมอลล์, ลาซาด้า ฯลฯ ซึ่งนักช็อปไทยจำนวนไม่น้อยเป็นลูกค้าอยู่

ขณะเดียวกัน ยักษ์อีคอมเมิร์ซแดนมังกรรายนี้ยังเดินหน้าขยายอาณาจักรธุรกิจไปยังเซ็กเมนต์อื่น ๆ อาทิ ท่องเที่ยว การให้สินเชื่อ ประกัน ขนส่งสินค้า-อาหาร คลาวด์ และเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงข้ามมาไปยังฝั่งออฟไลน์ ภายใต้กลยุทธ์นิวรีเทล (new retail) ตามเทรนด์ออนไลน์ทูออฟไลน์ หรือการผสานช่องทางและฐานลูกค้าออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ซึ่งกระแสเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมในวงการค้าปลีกโลก

ไม่เพียงซูเปอร์มาร์เก็ตดิจิทัล “เหอหม่า เฟรช” (Hema) ที่มีบริการส่งสินค้ารัศมี 3 กิโลเมตรใน 30 นาที และบริการปรุงอาหารในร้านแล้ว ยังมี “ฟิวเจอร์มาร์ท” (Future Mart) ร้านค้าสไตล์แกร็บแอนด์โกที่ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าแล้วเดินออกจากร้านโดยไม่ต้องผ่านเคาน์เตอร์คิดเงิน โซลูชั่นสำหรับร้านค้าแบบบริการตนเอง24 ชั่วโมง รวมถึงรูรัลเถาเป่า (Rural Taobao) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังนำบริการฟินเทคของ “แอนท์ ไฟแนนเชียล” และขนส่ง”ไช่เหนี่ยว” (Cainiao) เข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมต่อแพลตฟอร์มและโซลูชั่นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งด้านการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายย่อย การเช็กเครดิตความน่าเชื่อถือของลูกค้า-ผู้ประกอบการแต่ละราย นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะเมื่ออาลีบาบาเล็งนำธุรกิจต่าง ๆ ในเครือเข้ามาให้บริการในประเทศไทยในอนาคต ตามแผนที่จะใช้ไทยเป็นฮับรุกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้โอกาสจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอีอีซี และดีมานด์เทคโนโลยี-โนว์ฮาวของนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ไม่ว่าจะเป็นนำไช่เหนี่ยวเข้ามาให้บริการโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์ หรือใช้โนว์ฮาวด้านอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเปิดอบรมผู้ค้าปลีกออนไลน์ เพื่อนำสินค้าเข้าไปขายในทีมอลล์ ดึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าสู่ฟลิกกี้เพิ่มโอกาสรับลูกค้าชาวจีน รวมถึงใช้เอไอของอาลียุนสร้างโซลูชั่นด้านการเกษตร เป็นต้น หลังจากปัจจุบันด้านการเงิน อาลีเพย์ได้จับมือกับทรูวอลเล็ตไปก่อนแล้ว เช่นเดียวกับลาซาด้าซึ่งเชื่อมฐานข้อมูลสินค้ากับเถาเป่า

โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เดินทางไปเยือนสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน พร้อมเยี่ยมชมธุรกิจต่าง ๆ ทั้งกลุ่มนิวรีเทล แอนท์ ไฟแนนเชียล และรูรัลเถาเป่า ซึ่งแต่ละธุรกิจต่างมีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป

สำหรับ “ฟิวเจอร์มาร์ท” เป็นร้านค้าปลีกแบบไม่ต้องมีเคาน์เตอร์คิดเงิน คล้ายอเมซอนโก (Amazon Go) ของอเมซอน ยักษ์อีคอมเมิร์ซสหรัฐ ที่อาศัยระบบกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ในร้าน เพื่อตรวจสอบสินค้า คิดราคา และหักเงินจากบัญชีของลูกค้า โดยการเข้าออกร้านลูกค้าจะต้องสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเชื่อมต่อบัญชีอาลีเพย์ และยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า

จากนั้นลูกค้าสามารถเดินหยิบสินค้าที่ต้องการได้อย่างอิสระ เนื่องจากระบบกล้องวงจรปิดจะคอยบันทึกจำนวนสินค้าเอาไว้ และจะคิดเงินเมื่อลูกค้าสแกนใบหน้าก่อนออกจากร้าน ทั้งนี้ ร้านฟิวเจอร์มาร์ทของอาลีบาบายังเป็นโมเดลทดลอง ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานใหญ่จำหน่ายสินค้าของที่ระลึก

ส่วนโมเดลที่นำไปใช้งานจริงแล้วจะมีโซลูชั่นสำหรับร้านอาหารแบบบริการตนเอง และร้านอาหารแกร็บแอนด์โก 24 ชั่วโมง ซึ่งอาลีบาบาจับมือกับเชนร้านอาหารจีน “อู ฟ่าง ไจ” (Wu Fang Zhai) พัฒนาขึ้น มีจุดเด่นเรื่องลดต้นทุนด้านพนักงานหน้าร้านที่ลดจาก 7 คน เหลือเพียง 1 คน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 3 แสนหยวนต่อปี

ขณะที่ความยืดหยุ่นในการสั่งอาหารล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่นได้ และแจ้งเตือนเมื่ออาหารปรุงเสร็จพร้อมทาน ช่วยเพิ่มจำนวนออร์เดอร์ทั้งจากลูกค้าหน้าร้าน และผู้ใช้บริการสั่งอาหารอย่าง “เอ้อเล่อหม่า”, “เม่ยถวนหว่าง” และอื่น ๆ ซึ่งสามารถมาถึงร้านในจังหวะที่อาหารเสร็จพร้อมนำส่ง

ส่วนโมเดลบริการตนเอง 24 ชั่วโมง จะใช้ระบบแกร็บแอนด์โกเช่นกัน โดยลูกค้าต้องสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อยืนยันตัวตน จึงจะสามารถเข้าร้านและเปิดตู้สินค้าได้ ส่วนค่าสินค้าจะหักบัญชีโดยอัตโนมัติ ตอบโจทย์ร้านค้าที่ต้องการเปิดบริการ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีพนักงานเฝ้า

ด้านการขยายฐานลูกค้าภูธรนั้น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “รูรัลเถาเป่า” (Rural Taobao) เจาะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ห่างไกล และไม่คุ้นเคยกับระบบอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะทั้งไลน์อัพสินค้าที่เน้นสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ข้าวสาร เครื่องมือต่าง ๆ และจุดขายด้านความสะดวกรวดเร็ว โดยรุกตั้งเครือข่ายตัวแทนในระดับหมู่บ้านและระดับเขตเป็นตัวกลางช่วยสั่งสินค้าต่าง ๆ

รวมไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหม้อหุงข้าว แอร์ ให้กับชาวบ้านแลกกับค่าคอมมิสชั่น พร้อมกับนำสินค้าเกษตรหรือของดีประจำท้องถิ่นที่มีศักยภาพไปวางจำหน่ายบนอีคอมเมิร์ซ พร้อมอาศัย “ไช่เหนี่ยว” บริการโลจิสติกส์ของอาลีบาบาการันตีส่งสินค้าภายใน 24-48 ชั่วโมง

โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้มี “แอนท์ ไฟแนนเชียล” และ “ไช่เหนี่ยว” เป็นฟันเฟืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อาลีเพย์ การให้สินเชื่อสำหรับเกษตรกรหรือธุรกิจรายย่อย ไปจนถึงระบบเครดิตความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งานแต่ละราย เช่นเดียวกับเครือข่ายโกดังสินค้าและการประสานงานระหว่างผู้ให้บริการขนส่งของไช่เหนี่ยวช่วยให้สามารถส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว

กลยุทธ์เหล่านี้ช่วยให้อาลีบาบาสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างตั้งแต่กลุ่มรากหญ้าไปจนถึงคนเมือง และสามารถนำมาต่อยอดเสริมแกร่งให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้ารวมถึงได้บิ๊กดาต้าสำหรับไปทำการตลาดและพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ออกมาขายให้กับลูกค้าองค์กร