ส่องธุรกิจ “ยา” ทำไมตลาดเอเชีย…โตไม่หยุด

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ด้วยพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมยา รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขยายตัวขึ้นตามไปด้วย โดยแนวโน้มดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นทั่วเอเชีย และกลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาทั้งหมด

“นิโคลัส ฮอลล์” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท นิโคลัส ฮอลล์ กล่าวในงาน “Asian Consumer Heathcare Trends” ที่จัดขึ้นโดยบริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ปี 2560 ตลาดยาทั่วโลกมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆ อยู่หลายราย โดย 7 บริษัทชั้นนำที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดถึง 24% ของมูลค่าตลาดรวม ได้แก่ GSK 4.3%, Bayer 4.1%, Sanofi 4.1%, J&J 4.1%, Pfizer 3%, Reckitt Benckiser 2.5% และ P&G 1.9%

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ตลาดนี้เติบโต คือ ร้านขายยาที่ปรับตัวให้เป็นเสมือนจุดดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ซึ่งสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ และช่องทางการขายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซกลายมาเป็นอีกช่องทางสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคนี้ ทำให้ตลาดยาและผลิตภัณฑ์กลุ่มเสริมอาหารมีอัตราการเติบโตที่ดี

อย่างไรก็ตาม แม้ช่องทางอีคอมเมิร์ซจะตอบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ แต่ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการในธุรกิจยาก็ต้องพิจารณาถึงข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การจัดส่งผ่านช่องทางนี้ต้องใช้ระยะเวลา จึงอาจจะไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์บางกลุ่ม อีกทั้งยังไม่มีเภสัชกรในการให้ข้อมูล หรือตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการใช้ยา เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องแก้โจทย์เหล่านี้ให้ได้

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยาเอเชียจากนี้ไป “นิโคลัส” ให้มุมมองว่า ธุรกิจเดิมต้องปรับตัว โดยมองหาผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ของช่องทางจัดจำหน่ายและกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลางก็กลายเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของธุรกิจนี้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นนักช็อปที่สำคัญในอนาคต

อีกทั้งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ซึ่งตลาดอาเซียนส่วนใหญ่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นแบรนด์ต้องวางแผนและวางตำแหน่งของสินค้าให้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

นอกจากนี้ จำนวนสื่อและข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากสื่อเก่าและสื่อออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพได้จากหลายช่องทาง ก็กลายเป็นอีกตัวกระตุ้นให้ตลาดนี้เติบโต

ในแง่ของการอยู่รอดของร้านขายยาแบบเดิม ๆ ก็ต้องปรับตัว โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการมากขึ้น ต้องมีจุดบริการผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ทั้งหมดจะช่วยให้ร้านขายยาอิสระ หรือร้านขายยาที่เป็นเชนขนาดเล็ก สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางการตลาดค้าปลีกที่มีการแข่งขันที่สูง

เมื่อบทบาทของร้านขายยากำลังเปลี่ยนจากแค่ช่องทางจำหน่าย สู่ตัวเลือกสำคัญในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้น ร้านขายยา และผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ก็ต้องปรับตัว พัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ พร้อม ๆ กับตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้