รพ.ดาหน้าลงทุนยึดทำเลทองอีอีซี “ชลบุรี-แปดริ้ว”ดีมานด์เฮลท์แคร์พุ่ง

โรงพยาบาลแห่ปักหมุดยึดทำเลทองรับอีอีซี “ชลบุรี-แปดริ้ว” คาดดีมานด์ด้านการรักษาพยาบาลทะลัก บิ๊กแบรนด์ “กรุงเทพ-สมิติเวช” เร่งลงทุนเพิ่มสาขา-ขยายจำนวนเตียง เปิด รพ.ใหม่ “จอมเทียน” ปี”63 พร้อมตั้ง “ระยอง” เป็นฮับ ส่วน “เกษมราษฎร์-จุฬารัตน์” ทุ่มชิงกำลังซื้อเมืองแปดริ้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีกำลังเป็นพื้นที่ที่กลุ่มนักลงทุนด้านสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์ ให้ความสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาล ที่คาดว่าการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน หรือมีดีมานด์ใหญ่ที่สุดพื้นที่หนึ่งในภาคตะวันออก

“กรุงเทพ” ลงทุนเพิ่มรับดีมานด์

นายแพทย์สีหราช โลหชิตรานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือบีดีเอ็มเอส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มบีดีเอ็มเอสติดตามโครงการอีอีซีมาตลอด ล่าสุดได้ลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่บริเวณพัทยาใต้ ชื่อโรงพยาบาลจอมเทียน ขนาด 230 เตียง พื้นที่ 6 ไร่ เน้นรักษาโรคทั่วไป เจาะกลุ่มคนไทยเป็นหลัก คาดเปิดบริการปี 2563

ปัจจุบันบีดีเอ็มเอสเปิดให้บริการในภาคตะวันออก 3 แบรนด์ ได้แก่ กรุงเทพ สมิติเวช และพญาไท เฉพาะในชลบุรี มี 4 โรง 3 แบรนด์ คือ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา, สมิติเวช ศรีราชา, สมิติเวช ชลบุรี และพญาไท ศรีราชา มีจำนวนเตียงคิดสัดส่วน 50% จากทั้งหมด 1,500 เตียงของโรงพยาบาลเอกชนในชลบุรี

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวอีกว่า เพื่อรองรับอีอีซี บริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง ให้เป็น center of excellence network แห่งที่ 10 ของเครือ สำหรับ จ.ระยอง นอกจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (220 เตียง) ในส่วนของโรงพยาบาลศรีระยอง ของในเครือเพิ่มเตียงอีก 148 เตียง เป็น 203 เตียง

นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 ในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ได้เตรียมงบฯลงทุน 800-1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ เช่น ลงทุน 300 ล้านบาทสร้างห้องแล็บที่ระยอง ใช้งบฯ 300 ล้านบาท จะเปิดบริการปี 2562 ลงทุนขยายร้านขายยา “เซฟดรัก” 200 สาขา ในปี 2562 จากปัจจุบันมี 150 สาขา เป็นต้น

“เกษมราษฎร์” ปักธงแปดริ้ว

นายแพทย์เฉลิม หาญพาญิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือบีซีเอช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โซนโครงการอีอีซี ในเขต 3 จังหวัด (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง) กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมาก เนื่องจากในอนาคตจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งที่อยู่อาศัย สมาร์ทซิตี้ กลุ่มเกษมราษฎร์จะให้ความสำคัญกับ จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีกำลังซื้อ และมีการลงทุนใหม่ ๆ ทั้งเชื่อมต่อทางหลวง 304 ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก และมีกลุ่มผู้ประกันตนไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนคน ซึ่งย่านนี้ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนเปิดให้บริการอยู่เลย

“เมื่อ 2 ปีก่อน บริษัทได้ซื้อโรงพยาบาลเดิมและรีโนเวตใหม่ อยู่ในตัวเมืองกว่า 8 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 18,000 ตร.ม. เป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง ตอนนี้มีผลดำเนินการดีเติบโตต่อเนื่อง เรายังมีแผนเปิดสาขาเพิ่มที่กบินทร์บุรี (ผ่านอีไอเอแล้ว) และจะไปยัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมืองหน้าด่านติดปอยเปต ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย

รพ.ซุ่มตั้งบริษัทใหม่บุก

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากการลงทุนของค่ายใหญ่แล้ว ล่าสุดยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายมีแผนจะเปิดโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดอีอีซี อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ได้จดทะเบียนตั้งบริษัท โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา จำกัด เพื่อสร้างโรงพยาบาลบนถนนฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม ต.บางตีนเป็ด อ.เมืองฉะเชิงเทรา ขณะที่กลุ่มทุนท้องถิ่น เจ้าของโรงพยาบาลปิยะเวชช์ ระยอง ขนาด 30 เตียง ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้ตั้งบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวชช์ นิคมพัฒนา จำกัด ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการโรงพยาบาลจุฬารัตน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา จะเป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง เป็นอาคาร 8 ชั้น พื้นที่ 15,000 ตร.ม. คาดจะใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท