“เพาเวอร์มอลล์” ผนึกลาซาด้า บุก “เครื่องใช้ไฟฟ้า” แพลตฟอร์มออนไลน์

“เดอะมอลล์” เติมความแกร่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่งร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า “เพาเวอร์มอลล์” แท็กทีมมาร์เก็ตเพลซ “ลาซาด้า” เปิดหน้าร้านขายออนไลน์ วางสินค้าครอบคลุมทุกวาไรตี้ พร้อมอัดโปรโมชั่นแรงดึงลูกค้าปฏิเสธไม่ได้ว่าอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ขาดไม่ได้ของทุกธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อการแข่งขันราคาอย่างดุเดือดด้วยคูปองแฟลชเซลส่งฟรี ฯลฯ ระหว่างผู้เล่นแต่ละรายดึงดูดผู้บริโภคจำนวนมากให้หันมาสนใจและจับจ่ายผ่านช่องทางนี้

ล่าสุด “เพาเวอร์มอลล์” เชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป และเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลัก แต่กลับไม่มีช่องทางออนไลน์ได้ตัดสินใจเปิดช่องทางออนไลน์ของตนเองเป็นครั้งแรก โดยอาศัยการเปิดออฟฟิเชียลสโตร์บนลาซาด้าที่มีความเชี่ยวชาญและฐานลูกค้าที่แน่นหนา แทนการปั้นแพลตฟอร์มเอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของกลุ่มเดอะมอลล์ “เพาเวอร์มอลล์” ได้เปิดร้านค้าออนไลน์แห่งแรกบน “ลาซาด้า” หนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ พร้อมระดมการตลาดเข้มข้นเพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นลุ้นรับคูปองส่วนลดเมื่อกดติดตามร้านสินค้าลดสูงสุด 70% และผ่อน 0% นาน 10 เดือน รับคะแนนเอ็มพอยต์คูณ 2 และอื่น ๆ เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กในเครือทั้งภาพและวิดีโออย่างต่อเนื่อง

โดยจากการสำรวจพบว่าในวันที่ 27 ส.ค.มีผู้ติดตามร้านค้าบนลาซาด้าแล้วประมาณ 3,000 คน และมีความหลากหลายของสินค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 200 รายการ เฉลี่ยหมวดละ 3-16 รายการ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ของเดอะมอลล์ทยอยขยายตัวออกนอกศูนย์การค้า โดยเมื่อปลายปี 2560 เพาเวอร์บายได้จับมือกับกลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ เปิดสาขาขนาด 1,200 ตร.ม.ในเดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์ พร้อมทำแคมเปญการตลาดร่วมกัน นับเป็นสาขานอกห้างแห่งแรก เช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ต กูร์เมต์มาร์เก็ต ซึ่งออกนอกห้างเป็นรายแรก จนปัจจุบันมีสาขาทั้งในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เทอร์มินอล 21 บลูพอร์ตหัวหิน

นายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวก่อนหน้านี้ถึงการขยายสู่ออนไลน์ว่าอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่ออุดช่องว่างของเพาเวอร์มอลล์ ซึ่งยังไม่เคยมีช่องขายบนโลกออนไลน์มาก่อน ในขณะที่คู่แข่งต่างมีความสามารถด้านนี้กันหมดแล้ว

ด้านออฟไลน์นั้นพยายามขยายสาขาต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างหาพาร์ตเนอร์และทำเลที่เหมาะสมกับโพซิชั่นของแบรนด์ซึ่งมุ่งจับลูกค้าระดับบน-ไฮเอนด์ ส่วนสาขาเดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์นั้น ปัจจุบันสามารถทำยอดขายได้น่าพอใจ จึงโฟกัสไปที่การสร้างการรับรู้เพิ่มเติมกับฐานลูกค้าของเอสบีฯ และผู้บริโภคเขตรอบนอกของ กทม.ซึ่งมีดีมานด์และกำลังซื้อสูงตามการขยายตัวของโครงการอสังหาฯระดับบน ส่วนบียูอื่น ๆ นั้นมีทิศทางแตกต่างกันออกไป โดย “กูร์เมต์มาร์เก็ต” เดินหน้าขยายต่อเนื่องในทุกพื้นที่ที่มีโอกาส เนื่องจากสินค้าอาหาร-เครื่องดื่มและของสดนั้นมีฐานลูกค้ากว้างและหลากหลาย อีกทั้งยังตัดสินใจซื้อได้ง่าย จึงขยายสาขาได้ง่าย ตรงกันข้ามกับ “สปอร์ตมอลล์” ที่ไม่เน้นขยายสาขานอกห้าง แต่จะดึงลูกค้าเข้ามาในสาขาเดิมด้วยการปรับคอนเซ็ปต์ในแต่ละสาขาให้สอดคล้องกับเทรนด์อยู่เสมอ

“สินค้ากีฬามีจุดขายที่ความครบครัน แต่ด้วยไลน์อัพที่เยอะมาก ทำให้ต้องใช้พื้นที่มากตามไปด้วย ยากที่จะยกบางเซ็กเมนต์ไปตั้งสาขาแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงหันเน้นสร้างสาขาเดิมให้เป็นเดสติเนชั่นดึงลูกค้ามาหามากกว่าจะออกไปตั้งสาขาย่อย ๆ”