ผ่าเกม “สยามพิวรรธน์” “ทาคาชิมาย่า” ถึงพรีเมี่ยมเอาต์เลต

ที่ผ่านมา บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้ดำเนินการสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ รวมถึงไอคอนสยามที่เตรียมเปิดบริการปลายปีนี้ คือ กลุ่มทุนค้าปลีกมีความเคลื่อนไหวมากที่สุดค่ายหนึ่งการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจพัฒนาโครงการ premium บนทำเล prime location เป็นจุดเด่นของยักษ์ใหญ่ค่ายนี้มาอย่างต่อเนื่อง

“กลยุทธ์การสร้างพันธมิตร ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง ทำให้สยามพิวรรธน์สามารถต่อยอดธุรกิจออกไป แน่นอนว่าแนวทางนี้จะเป็นทิศทางของเราต่อไปในอนาคต” ชลชาติ เมฆสุภะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการลงทุน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด แจกแจง

“ด้วยแนวทางนี้ เราจึงขยายการลงทุนออกไปทุกทิศทาง เพราะเป็นการนำความโดดเด่นของแต่ละฝ่ายมาผสมผสานกัน ที่สำคัญ กลยุทธ์นี้ทำให้คู่ค้าชั้นนำจากทั่วโลกตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น”

ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับไซม่อน ใน “ลักเซอรี่พรีเมี่ยมเอาต์เลต” ซึ่งมีประสบการณ์ธุรกิจนี้มาทั่วโลก โดยที่เราเข้าไปเติมเต็มในเรื่องอื่น ๆ การหาทำเล ความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยหรือการร่วมทุนกับทาคาชิมาย่า ดีพาร์ตเมนต์สโตร์อันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น มีการบริหารจัดการในแบบฉบับของตัวเอง แต่ไม่มีประสบการณ์ในตลาดค้าปลีกเมืองไทย ความเชี่ยวชาญของสยามพิวรรธน์สามารถเข้าไปเติมเต็มในจุดนี้

“เรารู้ดีว่าคนไทยชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรือกฎระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ ของไทยที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ เมื่อเป็นพาร์ตเนอร์กัน เรื่องเหล่านี้เราจัดการได้หมด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2561 เป็นปีแห่งการเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจต่าง ๆ ล่าสุด คือ ร่วมทุนกับบริษัท istyle inc. เปิดร้านสเปเชียลตี้สโตร์เครื่องสำอาง @cosme store

ย้อนไปในอดีต สยามพิวรรธน์มีธุรกิจในเครืออยู่ 20 บริษัท ด้วยกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรธุรกิจ ปัจจุบันถูกต่อยอดออกไปมากกว่า 50 บริษัท จริงอยู่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ทำให้เกิดการแข่งขันรูปแบบใหม่ ๆ จากทุกมุมโลก

การขยายตัวของเมือง กำลังซื้อผู้บริโภคระดับกลางที่เพิ่มขึ้น บวกกับการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกไทยมีความแข็งแกร่ง

ในบทบาทรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ และการลงทุนของสยามพิวรรธน์ “ชลชาติ” มีส่วนสำคัญในการเจราจาธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะการร่วมลงทุนกับไซม่อน เปิดลักเซอรี่พรีเมี่ยมเอาต์เลต ในประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในความสนใจ

เจ้าตัวเล่าว่า…ก่อนตัดสินใจ เรามีข้อมูลว่านักท่องเที่ยวไทยเป็นกลุ่มที่ขอ “คืนภาษี” จากร้านค้าในญี่ปุ่นเป็นลำดับต้น ๆ สิ่งนี้บอกว่า โอกาสที่ “พรีเมี่ยมเอาต์เลต” จะประสบความสำเร็จในประเทศไทยนั้นมีสูงมาก โปรไฟล์ของไซม่อนยังน่าสนใจอย่างยิ่ง

ปัจจุบันไซม่อนเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลก มีโครงการในพอร์ตโฟลิโอมากกว่า 230 แห่ง มีศูนย์การค้าใหญ่ ๆ ในอเมริกา มีเอาต์เลตกระจายทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ “โกเทมบะ” ที่คนไทยคุ้นเคย

ในเชิงลึกพรีเมี่ยมเอาต์เลตของไซม่อนได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกเป็นร้อย ๆ แบรนด์ รวมถึงปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคตลอดเวลา

“ยุคแรก ๆ ของเอาต์เลต คนรีบซื้อรีบไป แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เพราะลูกค้ากลุ่มครอบครัวเพิ่มเข้ามาจำนวนมาก”

ตามแผนลงทุน 5 ปีกับไซม่อน จะมีทั้งหมด 3 สาขา โดยที่สาขาแรกไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในช่วงออกแบบ เพื่อก่อสร้างในอีก 2 เดือนข้างหน้า ที่ดิน 150 ไร่ พรีเมี่ยมเอาต์เลตสาขาแรก แบ่งเป็นการพัฒนาเฟสแรก 30,000 ตร.ม. เปิดบริการปลายปี 2562 เฟสที่ 2 ในปี 2564 อีก 5,000-7,000 ตร.ม. และเฟสสุดท้าย 5,000 ตร.ม. รวมถึงจะมีส่วนอื่น ๆ เข้ามา อาทิ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โครงการผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย ฯลฯ เพื่อเติมเต็ม ด้วยทำเลที่ตั้ง แบรนด์ บวกกับประสบการณ์ของสยามพิวรรธน์ และไซม่อน น่าจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และมีตัวเลขการใช้จ่ายสูงกว่าที่อื่น ๆ เพราะไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

“มั่นใจว่าถ้าสร้างส่วนผสม (มิกซ์ยูส) ตรงกับไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมการจับจ่าย การออกแบบที่สอดรับกับสภาพภูมิอากาศในเมืองไทย เราน่าจะไปได้ดี”

นอกจากไอคอนสยาม และพรีเมี่ยมเอาต์เลต เตรียมเปิดบริการต่อเนื่องกันไป เจ้าตัวยืนยันว่า การลงทุนของสยามพิวรรธน์ในอนาคตยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ และเปิดกว้างกับการลงทุน รวมถึงต่างประเทศ ความสำเร็จของสยามพิวรรธน์ทำให้ได้รับความสนใจจากหลาย ๆ ประเทศ

“เราสนใจการลงทุนทุกรูปแบบ แม้กระทั่งการซื้อกิจการ ถ้าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเรา แต่ไม่ได้มีกำหนดเวลา ขึ้นอยู่กับโอกาสที่เข้ามา”


แน่นอนว่าการลงทุนในประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายอันดับแรกของเรา