“สมิติเวช” ทุ่มงบฯก้อนโต รับดีมานด์…อีอีซีบูม

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ใครจะคิดว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะโดนดิสรัปต์ (disrupt) จากเทคโนโลยีได้เหมือนกัน เพราะทุกคน เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมาพบแพทย์ เพื่อรักษาอยู่แล้ว มิหนำซ้ำ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งทำให้ตัวเลขของการใช้จ่าย เพื่อดูแลรักษาสุขภาพยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเองก็ต้องเตรียมตัวสำหรับโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย หนึ่งในนั้น คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่กลายเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนด้านสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์กำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาล เพราะอนาคตคาดว่าดีมานด์การรักษาพยาบาลในพื้นที่นี้จะใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก หรือไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

“นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ฉายภาพถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกธุรกิจ จะสร้างอิมแพ็กต์ให้กับทุก ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน แต่การโดนดิสรัปต์นั้นจะเกิดขึ้นจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่างไมโครซอฟท์ แอปเปิล อาลีบาบา ฯลฯ ไม่ใช่การแข่งขันของ รพ.ด้วยกันเองอีกต่อไป เช่น ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเอไอเข้ามาวิเคราะห์การรักษา โดยที่ไม่ต้องมาตรวจที่ รพ. เป็นต้น

เพื่อทำให้กลุ่มของ รพ.สมิติเวชเติบโตได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องปรับบิสซิเนสโมเดลใหม่ จากเดิมที่เน้นการรักษาโรค เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคทั้งปัจจุบันและอนาคต ภายใต้แนวคิด “เราไม่อยากให้ใครป่วย” โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมมากขึ้น ตลอดจนขยายความร่วมมือกับ รพ.พันธมิตรในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สำหรับความเชี่ยวชาญในโรคเฉพาะทาง เช่น มะเร็ง การตัดต่อยีน พันธุกรรมต่าง ๆ

“ความแตกต่างของเรา คือ เป็นโปรแกรมการตรวจสุขภาพที่ออกแบบเฉพาะบุคคล โดยพิจารณาถึงอายุ เพศ หน้าที่การงาน การใช้ชีวิต หรือการป้องกันในระดับยีน เช่น การกำจัดเซลล์ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียออกจากพ่อแม่ ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่เป็นพาหะอีกต่อไป หรือการตรวจทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และใช้วัคซีนรักษาอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์”

แนวทางดังกล่าวนอกจากจะสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานลูกค้าพรีเมี่ยมของ รพ.แล้ว ยังช่วยขยายฐานลูกค้าคนชั้นกลางให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย เนื่องจากเมื่อเทียบอัตราค่ารักษาเมื่อเป็นโรค การตรวจเพื่อป้องกันนั้นมีระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการ โดยการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟน “สมิติเวช พลัส” รองรับผู้มาใช้บริการของ รพ. ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแพทย์ที่ต้องการ และนัดหมายได้ด้วยตัวเอง การแจ้งเตือนเมื่อถึงคิวรับบริการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่เสียเวลารอคิว ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแล้วประมาณ 6,000 คน

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเพื่ออัพเกรดเครื่องมือทางการแพทย์ เทคโนโลยีดิจิทัล 1,500 ล้านบาท และลงทุนเพื่อขยาย รพ.สมิติเวชชลบุรีอีก 1,200 ล้านบาท ตลอดจน รพ.สมิติเวชศรีราชา แต่ยังไม่ได้กำหนดเม็ดเงินลงทุน เพื่อรองรับดีมานด์ที่จะเกิดขึ้นจากอีอีซี

อีอีซีเป็นพื้นที่สำคัญ และมีโอกาสมหาศาล ปัจจุบันเครือมี 2 รพ. ที่อยู่ในโซนดังกล่าว มีจำนวนเตียงรวม 200 เตียง คาดว่าจะขยายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือ 400 เตียง ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ปัจจุบันมี รพ.ในเครือทั้งหมด 7 รพ. มีจำนวนเตียงรวม 1,432 เตียง และภายในไตรมาส 1 ปีหน้า มีแผนเปิด รพ. “Japanese Regional Hospital” ตั้งอยู่ตรงข้ามสมิติเวช สุขุมวิท ที่ได้ลงทุนไป 1,000 ล้านบาทในช่วงก่อนหน้า เพื่อรองรับคนไข้ญี่ปุ่นเป็นหลัก อีกจำนวน 30 เตียงส่วนการเติบโตของเครือสมิติเวชในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 12% คิดเป็นสัดส่วนผู้รับบริการคนไทย 60% และต่างชาติ 40% อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ตะวันออกกลาง ฯลฯ

“จุดแข็งของเรา คือ การรักษาและบริการที่ครองใจ จนทำให้เกิดการบอกต่อ วันนี้ในแง่ของการเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เราบรรลุเป้าหมายนี้แล้ว แต่เป้าหมายต่อไปคือการรักษาความเป็นอันดับหนึ่ง”


เมื่อโจทย์ รพ.ไม่ใช่แค่รักษาอาการเจ็บป่วย แต่ต้องดึงให้คนไม่ป่วยเข้ามาใช้บริการให้ได้ และต้องปรับตัวไม่แพ้ธุรกิจอื่น เพื่อต่อกรกับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น