พรวุฒิ สารสิน “ไดเร็กชั่น” ก่อนรีไทร์ ดัน ไทยน้ำทิพย์ ผู้นำเครื่องดื่ม

สัมภาษณ์

หากจะพูดถึงเบื้องหลังความสำเร็จของโค้กในเมืองไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไทยน้ำทิพย์” บอตเลอร์คู่บุญของโคคา-โคลา ที่ดูแลด้านการผลิต บรรจุขวด และจัดจำหน่าย ใน 63 จังหวัด (ไม่รวมภาคใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของหาดทิพย์) มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้โค้กมาถึงจุดนี้ได้

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อขยายและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รองรับการเติบโตของธุรกิจและความต้องการของผู้บริโภคอย่างไม่หยุดนิ่ง จนวันนี้ไทยน้ำทิพย์มีโรงงานบรรจุขวดรวมทั้งหมด 5 โรงงาน ในขอนแก่น ลำปาง ปทุมธานี และนครราชสีมา และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าครอบคลุมทุกช่องทางจำหน่ายกว่า 200,000 แห่งทั่วประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “พรวุฒิ สารสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ภายในงานประกวดออกแบบโลโก้ฉลองครบรอบ 60 ปี ถึงภาพรวมความสำเร็จและทิศทางของบริษัทในช่วงต่อจากนี้

“พรวุฒิ” ฉายภาพให้เห็นถึงก้าวย่างต่อไปของไทยน้ำทิพย์ ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของเดอะโคคา-โคลา คัมปะนี ว่า ต้องการวางรากฐานให้บริษัทมีความแข็งแรงมากขึ้น ทั้งในด้านของการผลิตซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีนวัตกรรมออกมาสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดและผู้บริโภคอยู่เสมอ

ในด้านของบุคลากรก็ต้องเสริมศักยภาพให้พนักงานมีความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ และในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผ่านการเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งดนตรี กีฬา เยาวชน ฯลฯอาทิ ฟุตบอลเยาวชน โค้กคัพ โครงการรักน้ำ ที่สร้างองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการรีไซเคิล 360 องศา เป็นต้น

“ทุกอย่างในโลกนี้มันลำบากขึ้นทุกปี เข้มข้นขึ้นทุกปี และแข่งขันกันมากขึ้นทุกปี เราจึงต้องพัฒนาให้ตัวเองเก่งขึ้น ต้องดีขึ้น อย่างเรื่องของดิสรัปชั่นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรา ก็ต้องศึกษาและเตรียมตัวเอาไว้ โดยเฉพาะในส่วนของการส่งสินค้า หรือระบบดิสทริบิวชั่นที่เริ่มเห็นการโดนดิสรัปต์แล้วในต่างประเทศ”

ต่อเนื่องจากแผนการดำเนินงาน “Fast Forward พุ่งทะยาน สู่ความสำเร็จ” ที่เริ่มในช่วงต้นปีที่ผ่านมาในการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อครองตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องดื่มของไทยอย่างยั่งยืน

โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ปรับปรุงระบบขนส่ง โดยการจับมือกับ NOSTRA Logistics ติดตั้งจีพีเอสที่รถขนส่ง และแอปพลิเคชั่นที่สามารถติดตาม คาดการณ์ระยะเวลา เพื่อวางแผนการทำงานและการใช้ทรัพยากรอย่างแม่นยำ ส่งผลให้การทำงานรวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพ

“พรวุฒิ” ยังระบุถึงเป้าหมายในช่วง 3-5 ปีนี้ไว้อีกว่า ต้องการผลักดันให้ไทยน้ำทิพย์เป็น total beverage company (บริษัทเครื่องดื่มครบวงจร) มากกว่านี้ ด้วยศักยภาพของบริษัทที่สามารถผลิตสินค้าเครื่องดื่มได้แทบทุกประเภท แม้ว่าขณะนี้พอร์ตโฟลิโอของสินค้าที่ผลิตได้ จะครอบคลุมทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำดื่ม และชา รวม 16 แบรนด์ อาทิ โค้ก, โค้กไม่มีน้ำตาล, โค้ก ไลท์, แฟนต้า, สไปรท์, ชเวปส์, รูทเบียร์ เอแอนด์ดับบลิว, มินิทเมด สแปลช, มินิทเมด พัลพิ, มินิทเมด ไวตาคิดส์, มินิทเมด ออเรนจ์ ไฟเบอร์, มินิทเมด ฮันนี่ เลมอน, น้ำดื่มน้ำทิพย์, อควาเรียส และฟิวซ์ที

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเทรนด์ของเครื่องดื่มอะไรที่มาแรง รวมถึงเทรนด์ของเครื่องดื่มสุขภาพ ตลอดจนการศึกษาถึงเรื่องของการปรับลดน้ำตาลในผลิตภัณฑ์หลักอย่างโค้ก เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่เครื่องดื่มที่มีความหวานเกิน 6 กรัมต่อ 100 มล. จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น

“หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เขาให้เวลาเรา 1 ปี ในการปรับตัว ตอนนี้ยังเป็นสูตรเดิม มีน้ำตาล 10% หากจะปรับให้ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด หรือ 6 กรัมต่อ 100 มล. เรื่องรสชาติเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องศึกษากันอย่างละเอียด แต่มองว่าสามารถทำได้แน่นอน โดยที่รสชาติไม่แตกต่างจากเดิม”


ก่อนที่หัวเรือใหญ่ไทยน้ำทิพย์ในวัย 59 ปี จะเปรยถึงแผนการ “เกษียณ”ตัวเองเอาไว้ในไทม์ไลน์ช่วงนี้ด้วย แต่ยังไม่เปิดเผยว่า ใครจะขึ้นมาเป็นผู้สืบทอด (succcessor) ตำแหน่งเจ้าพ่อน้ำดำรายต่อไป