“ค้าปลีก” ฟื้นครึ่งปีหลัง แก้โจทย์…ตลาดเปลี่ยน

จับกระแสตลาด

เมื่อโจทย์การอยู่รอดของธุรกิจค้าปลีกและสินค้ายุคนี้ยากขึ้น เพราะต้องเผชิญกับมรสุมในหลาย ๆ มิติ ทั้งการถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่กำหนดกำลังซื้อของนักช็อป ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและสินค้าต้องตีโจทย์ให้แตก

“ชุมพล ศิวเวทกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายบริการห้างค้าปลีก บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่า มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยเองก็มีสัญญาณที่ดี โดยแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ก็ขยับขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 4% และคาดว่าสิ้นปีนี้จะปิดที่ 4.2-4.7% โดยเติบโตจากธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยว ประกอบกับรัฐบาลก็เดินหน้าลงทุนโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ต่อครัวเรือนดีขึ้น ผู้บริโภคก็เริ่มมีกำลังซื้อ กระตุ้นให้ภาพรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ขยับขึ้น

“ครึ่งปีหลังธุรกิจค้าปลีกจะได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายใช้สอยที่โตขึ้น สะท้อนจากภาพรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ติดลบน้อยลงเรื่อย ๆ โดยกลุ่มสินค้าสุขภาพความงามมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพราะสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน อีกทั้งส่งให้จำนวนร้านค้าปลีกความงามขยายตัวขึ้นตามไปด้วย”

“ชุมพล” บอกว่า ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้สินค้าและผู้ประกอบการค้าปลีกต้องเตรียมรับมือกับ 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ สังคมเมืองที่ขยายตัวขึ้น เพราะผู้บริโภคขยับเข้ามาอาศัยในเมืองเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าปี 2568 จะมีคนย้ายเข้ามาในเมืองเพิ่มเป็น 7 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดรองของไทยที่มีแนวโน้มการขยับตัวของประชากร นั่นหมายถึงไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น และกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นตามรายได้

ต่อด้วยนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยถึง 8.8 ล้านคน แบ่งเป็น กรุ๊ปทัวร์ 40% และกลุ่มที่เดินทางเอง 60% ซึ่งกลุ่มที่เดินทางเองถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงมีโอกาสที่จะจับจ่ายใช้สอยมากกว่า โดยคนกลุ่มนี้อยู่ยาว หรือเฉลี่ย 9.2 วันต่อทริป

ขณะที่กรุ๊ปทัวร์จะอาศัยอยู่ 6.8 วันต่อทริป ดังนั้น ค้าปลีกก็ต้องปรับตัว และตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ให้ได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงส่วนเทรนด์ที่ 3 คือ สังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัวขึ้น โดยสินค้าที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน ยา และเป็นเทรนด์ที่กำลังโต โดยค้าปลีกและเจ้าของสินค้าต้องปรับรูปแบบสโตร์ แพ็กเกจจิ้ง ให้สอดรับกับคนกลุ่มนี้ เพราะจะขยับเป็นประชากรฐานใหญ่ในอนาคต

สำหรับเทรนด์สุดท้าย คือ การมองข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความซับซ้อนขึ้น ทำให้หลาย ๆ ส่วนมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น และการเติบโตของเมืองรองที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นโอกาสสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวรองรับโอกาสนี้ให้ได้

“ชุมพล” ขยายความว่า ปัจจุบันร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) และร้านค้าแบบดั้งเดิม (traditional trade) มีสัดส่วน 50% เท่ากัน เพราะค้าปลีกสมัยใหม่ขยายสาขามากขึ้น และปรับรูปแบบของสินค้าในแต่ละสโตร์ให้สอดรับกับคนในแต่ละพื้นที่มากขึ้นด้วย ทำให้ตลาดโตขึ้น


ขณะเดียวกันก็มองข้ามกลุ่มร้านค้าปลีกดั้งเดิมไม่ได้ แม้ในแง่จำนวนอาจจะไม่โตขึ้น แต่กลุ่มนี้แข็งแกร่งขึ้น ปรับตัวเร็วขึ้นทั้งหมดกลายปัจจัยหลัก ๆ ในการชี้ชะตาธุรกิจค้าปลีกในขณะนี้